กรุงเทพฯ 16 พ.ค. – KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับคาดการณ์ GDP ลงเหลือ 1.7% ในปี 2568 จากเดิม 2.3% ด้านนักวิเคราะห์ประเมิน สภาพัฒน์แถลงจีดีไตรมาส 1/68 จันทร์นี้ คาดโต 3%
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน กล่าวว่า ในขณะนี้นักลงทุนต่างติดตามภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเป็นอย่างไร เพราะมีผลกระทบในหลายด้วน ในขณะที่วันจันทร์นี้ (19 พ.ค.) ตลาดคาดสภาพัฒน์ฯ จะแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/68 ขยายตัวประมาณ 3% บวกลบกว่านี้ไม่มากนัก ก็ถือว่าไม่ได้ดีมากนักและโมเมนตัม หลังจากนี้ไปก็จะมีผลกระทบทั้งจากสงครามการค้า การขึ้นภาษีของสหรัฐ และอื่นๆ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปครึ่งหลังของปีนี้และปีหน้า โดยรอดดูว่าจะมีการปรับลดคาดการร์จีดีพีปีนี้อย่างไร โดยส่วนใหญ่ขณะนี้คาดจีดีพีโตปีนี้ไม่ถึง 2 % รวมทั้งรอดูคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันจันทร์นี้จะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรับมือสงครามการค้าอย่างไร รวมไปถึงมาตรการส่งผลการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ทั้งท่องเที่ยว เทคโนโลยี จะดำเนินการอย่างไร
KKP Research ปรับคาดการณ์ GDP ลงเหลือ 1.7% ในปี 2568 จากเดิม 2.3% ระบุส่วนหนึ่งสะท้อนผลจากนโยบายการค้าสหรัฐ ฯ ต่อการส่งออก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลกซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจบริโภคและลงทุน อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนภาพกลับไปไกลกว่านั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยสูงเกินไปมาตลอด ซึ่งสะท้อนสองเรื่องสำคัญ คือ 1) เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงไม่ได้เกิดจากปัจจัยชั่วคราว แต่เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ไม่ฟื้นขึ้นมาเองเมื่อเวลาผ่านไป 2) ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกระทบเศรษฐกิจระหว่างปีและเศรษฐกิจโตได้ต่ำกว่าที่คาด KKP Research ต้องการชี้ให้เห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในความจริงแล้วสาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากนโยบายภาษีของ Trump เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง
ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยจากประเด็นสงครามการค้าในปี 2568 ยังคงเอียงไปทางด้านลบ หากการเจรจาล้มเหลวและสหรัฐฯ กลับมาเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 36% หลังครบกำหนดผ่อนผัน 90 วัน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง KKP Research ประเมินว่า GDP ไทยในปี 2568 อาจลดลงต่ำสุดเหลือเพียง 0.9%
KKP ประเมินภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตจากข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งอุปทานว่าค่อนข้างยากที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปเติบโตที่ 3% แม้จะไม่มีมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐ ฯ ก็ตาม เพื่อที่จะรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจให้ใกล้เคียง 3% สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น คือ ในกรณีแรก ภาคการท่องเที่ยวจะต้องขยายตัวมากถึงปีละประมาน 7 – 10 ล้านคนเหมือนช่วงที่จีนเข้ามาท่องเที่ยวไทยใหม่ ๆ หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังไทยต้องขยายตัวไปถึงประมาน 70 ล้านคนในปี 2573 เพื่อชดเชยกับภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง
ในกรณีสอง ภาคการผลิตไทยต้องกลับไปเติบโตเฉลี่ยปีละประมาน 5% เหมือนในช่วงปี 2543 ก่อนที่การท่องเที่ยวจะขยายตัวก้าวกระโดด ซึ่งเป็นไปได้ยากเมื่อพิจารณาการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในช่วงหลังโควิดที่โตได้เฉลี่ยเพียง -0.59% ต่อปี
ในกรณีสุดท้าย การใช้ภาคเกษตรเป็นตัวนำทางเศรษฐกิจ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เพราะมีขนาดที่เล็กเกินไปเพียงประมาน 8% ของ GDP นอกจากนี้ในปัจจุบันการส่งออกในภาคเกษตรที่เติบโตติดลบในปี 2568 เนื่องจากข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับข้าวอินเดียได้
เศรษฐกิจไทยโตต่ำลงเรื่อย ๆ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย
KKP Research ชวนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย 3 ข้อ คือ (1) นับตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไปจะเป็นปีที่ไม่เหลือแรงส่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้อีกแล้วและยากที่แต่ละ Sector จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนในอดีต จะทำให้ GDP โตต่ำกว่า 2% (2) ปัญหาของภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงไม่ได้เกิดจากเฉพาะปัจจัยระยะสั้นเช่นภาษีของ Trump ที่จะทยอยดีขึ้นเอง (เช่น หากมีการเจรจาการค้าสำเร็จ) แต่เป็นภาพสะท้อนปัญหาระยะยาว (3) เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอจากหนี้ครัวเรือนในขณะที่โลกกำลังผ่านจุดสูงสุดของโลกาภิวัฒน์ทำให้ไทยไม่เหลือแรงส่งจากทั้งในและต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กลับมาเป็นคำถามต่อผู้วางนโยบายเศรษฐกิจของไทยว่า เศรษฐกิจไทยจะโตต่อไปได้อย่างไรในช่วงหลังจากนี้
KKP Research ประเมินว่าภาครัฐต้องไม่ยึดติดกับการทำนโยบายแบบเดิม ๆ และควรต้องมีการประสานด้านนโยบาย ตัวอย่างที่น่าสนใจคือบทเรียนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด Abenomics เพื่อตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยืดเยื้อถูกจัดวางภายใต้กรอบ “ลูกศรสามดอก” อันประกอบด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายที่เน้นเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ นโยบายการคลังแบบขยายตัว และการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ บทเรียนของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีความครบถ้วนทั้งในมิติของระยะสั้นและระยะยาว และต้องมีทั้งนโยบายด้านอุปสงค์และนโยบายด้านโครงสร้าง การใช้นโยบายการเงินหรือการคลังเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของเศรษฐกิจได้ หากขาดการปฏิรูปเชิงโครงสร้างควบคู่กันไป. -511-สำนักข่าวไทย