กรุงเทพฯ 24 ธ.ค.- อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์แจง กฎกระทรวงใหม่เกี่ยวกับการฝากการลงทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสหกรณ์ไม่ให้ขาดทุนหนัก โดยให้โอกาสทำแผนปรับสัดส่วนการลงทุนได้ถึง 10 ปี หลังจากมีผลบังคับใช้ 5 ปีแล้ว จึงจะมีการประเมินว่า ต้องทบทวนหลักเกณฑ์หรือไม่
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เปิดเผยถึงข้อกังวลของสหกรณ์เกี่ยวกับประกาศกฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2567 เป็นการออกกฎหมายใหม่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแลเกี่ยวกับการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ตามมาตรา 89/2 (8) เกี่ยวกับเรื่องการฝากเงินและการลงทุน เป็นการป้องกันปัญหาขาดทุนของสหกรณ์จากการลงทุน โดยเปิดโอกาสในการจัดทำแผนปรับสัดส่วนการลงทุนได้ถึง 10 ปี โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567
สำหรับสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์มีสภาพคล่องทางการเงินสูงและมีการลงทุนตามมาตรา 62 เกิดความกังวลว่า การออกกฎกระทรวงในครั้งนี้มีข้อจำกัดในเรื่องเกณฑ์การกระจุกตัวที่ให้ฝากหรือลงทุนนิติบุคคลต่อแห่งได้ไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้น+ทุนสำรองของสหกรณนั้นๆ รวมถึงข้อจำกัดที่ให้ลงทุนได้ไม่เกินทุนเรือนหุ้น+ทุนสำรอง จะทำให้สหกรณ์เกิดผลกระทบในการบริหารจัดการสภาพคล่องส่วนเกินเช่น อาจต้องลดดอกเบี้ยเงินฝากลงหรือจะทำให้เงินทุนของสหกรณ์ลดลง สมาชิกโยกย้ายเงินฝากจากสหกรณ์ไปฝากหรือลงทุนอย่างอื่น ทำให้เงินไหลออกไปจากระบบสหกรณ์ จนกระทั่งเกิดผลกระทบต่อสินทรัพย์ในภาพรวมของระบบสหกรณ์นั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ขอชี้แจงว่า สหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่งซึ่งมีเงินเหลือ (Surplus) จากการทำธุรกิจกับสมาชิกควรมีทางใช้ไปของเงินที่ก่อประโยชน์ตอบแทนที่สมเหตุสมผล
ทั้งนี้วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์มิได้เป็นไปเพื่อแสวงหาผลกำไรมาแบ่งปัน การลงทุนของสหกรณ์จึงเป็นเพียงการบริหารสภาพคล่องคงเหลือจากการดำเนินธุรกิจกับสมาชิกและเครือข่ายสหกรณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์จากภาระต้นทุนทางการเงินของสหกรณ์เท่านั้น อีกทั้ง การลงทุนในตลาดทุนมีความเสี่ยงและความผันผวนซึ่งอาจส่งผลกระทบกับเงินของสหกรณ์ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสมาชิกสหกรณ์จึงจำเป็นต้องออกข้อกำหนดมากำกับดูแล
สำหรับกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ได้กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ 2 กรณี กรณีที่ 1 สหกรณ์ที่ฝากเงิน หรือลงทุนในนิติบุคคลต่อแห่งเกิน 10 % สามารถจัดทำแผนเพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนได้ภายใน 5 ปี ในช่วงแรกของการปรับตัว อาจยังกำหนดแผนให้มีการซื้อเข้าขายออกได้ตามปกติ แต่ต้องไม่เกินยอดเดิมของนิติบุคคลนั้น กรณีที่ 2 สหกรณ์ที่ลงทุนเกินกว่าทุนเรือนหุ้น+ทุนสำรอง จะมีวิธีการให้เวลาในการปรับตัวในลักษณะเดียวกันกับกรณีที่ 1 ได้ภายใน 10 ปี และสหกรณ์สามารถเพิ่มทุนเรือนหุ้นได้ทุกเดือน
เมื่อสหกรณ์ดำเนินการตามกฎกระทรวงนี้ไปแล้วภายในระยะเวลา 5 ปี กรมส่งเสริมสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำผลการดำเนินการ และผลกระทบมาพิจารณาว่า สมควรทบทวนหรือปรับปรุงหลักเกณฑ์อีกครั้งหรือไม่. 512 – สำนักข่าวไทย