กรุงเทพฯ25 ต.ค.-บมจ.ไทยออยล์ แจงจัดจ้างผู้รับเหมาหลัก โครงการพลังงานสะอาด (CFP) เป็นไปอย่างโปร่งใส
บมจ.ไทยออยล์ ชี้แจงว่าโครงการพลังงานสะอาด ( CFPCเป็นโครงการขยายโรงกลั่นน้ำมันที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Complex Refinery) เพิ่มขีดความสามารถในด้านการกลั่นน้ำมันและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งเป็นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมากจึงมีความจำเป็นต้องจัดจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีบริษัทใดที่สามารถดำเนินการได้ ไทยออยล์ได้เริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ CFP มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยเริ่มการออกแบบกระบวนการผลิตและออกแบบทางวิศวกรรมเบื้องต้นในปี พ.ศ. 2558-2559 เพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอในการออกหนังสือเชิญประกวดราคาผู้รับจ้างเหมาทำของ ออกแบบวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (EPC: Engineering, Procurement and Construction) โครงการ CFP และในปี พ.ศ. 2559
ไทยออยล์ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประกวดราคาตามกระบวนการจัดจ้างที่โปร่งใส สอดคล้องตามหลักบรรษัทภิบาล โดยมีหลักเกณฑ์ที่มีมาตรฐาน เช่น การวิเคราะห์งบการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน ประสบการณ์ เป็นต้น ซึ่งปรากฏว่า บริษัท 1. Petrofac International (UAE) LLC, 2. Samsung Engineering Co., Ltd., และ 3. Saipem S.P.A. ได้รับการคัดเลือกและได้ทำสัญญาจ้าง EPC ดังกล่าวกับไทยออยล์ ในปี พ.ศ.2561 ในนามของ The Consortium ประกอบด้วย PSS Netherlands B.V.,(Offshore Contractor) และ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem
(Onshore Contractor) โดยบริษัทแม่ของ The Consortium (PSSNetherlands B.V., (Offshore Contractor) และ UJV – Samsung,Petrofac และ Saipem (Onshore Contractor)) คือ 1. Petrofac Limited 2.Samsung Engineering Co., Ltd. และ 3. Saipem S.P.A. (“บริษัทแม่”)ได้ออกหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของ The Consortium ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงงาน โครงการ CFP ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่นไทยออยล์ ด้วยการขยายกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economies of Scale) สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความยืดหยุ่นในการรับน้ำมันดิบโรงกลั่นเพิ่มสัดส่วนการกลั่นน้ำมันหนัก (Heavy Crude) ได้มากขึ้นร้อยละ 40-50 สามารถเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ เปลี่ยนน้ำมันเตาให้เป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซล ซึ่งมีราคาสูงกว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เงินลงทุนประมาณ 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐ มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2562 ระหว่างก่อสร้างเกิดผลกระทบจากการส่งมอบงานและการจ้างแรงงานช่วง โควิด-19 ล่าสุดยังเกิดปัญหาการไม่จ่ายเงินค่าจ้างของกลุ่มผู้รับเหมาหลัก ต่อกลุ่มผู้รับหมาช่วงเกิดการชุมนุมของแรงงาน ทั้งที่ไทยออยล์จ่ายเงินค่าจ้างแก่ผู้รับเหมาหลักไปแล้ง นักวิเคราะห์คาดว่า จะกระทบแผนงาน ก่อสร้างแล้วเสร็จของ CFP ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568
ล่าสุดหุ้นไทยออยล์(TOP)วันนี้ (25 ต.ค. 67 )อยู่ที่ 44.00 บาทเมื่อเวลา 15.29 น. ลดลง 2.00 บาท จากวานนี้ นายปรินทร์ นิกรกิตติโกศล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นTOPปรับตัวลงมา คาดมาจากความกังวลต่อ CFP ขณะที่ปัจจุบัน TOP ยังไม่มีการแจ้งเลื่อนเปิดโครงการ CFP และยืนยันมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับ UJV-Samsung, Petrofac และ Saipem อย่างครบถ้วนมาโดยตลอด นอกจากนี้คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 3/67 ของ TOP จะมีผลขาดทุนสุทธิราว 3,500 ล้านบาท รับรู้ผลขาดทุนจากการสต็อกน้ำมัน (Stock Loss) ราว 7,500 ล้านบาท ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงเร็ว และค่าการกลั่นลดลง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว.-511.-สำนักข่าวไทย