กรุงเทพฯ 9 ก.ย. – FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับขึ้นสู่เกณฑ์ “ร้อนแรง” นักลงทุนมองปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ปัจจัยฉุดคือความไม่แน่นอนทางการเมือง-การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ คาดวายุภักษ์-ThaiESG หนุนเม็ดเงินเข้าตลาดกว่า 2 แสนล้านบาท ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตในกลุ่มเปราะบาง ช่วยหมุนเศรษฐกิจในระยะสั้นได้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 2567 พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 132.51 ปรับเพิ่มขึ้นกลับมาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่หนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และสัญญาณบวกจากความชัดเจนของการเมืองในประเทศ ขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสภาวะเงินเฟ้อ หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพาณิชย์ และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดยานยนต์
ผลสำรวจ ณ เดือนสิงหาคม 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 73.6% มาอยู่ที่ระดับ 144.26 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 28.4% มาอยู่ที่ระดับ 144.44 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 32.0% มาอยู่ที่ระดับ 120.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่ม 275.0% อยู่ที่ระดับ 125.00
ขณะที่ช่วงครึ่งแรกของเดือนสิงหาคม 2567 SET Index มีความผันผวนและปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,300 จุด จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ แม้ว่าได้จะรับข่าวดีจากการประกาศ GDP ไทยในไตรมาส 2/2567 เติบโตสูงกว่าคาด โดยขยายตัวที่ 2.3% ได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก
อย่างไรก็ตาม SET Index ในช่วงครึ่งเดือนหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และออกแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐในการแจกเงินสด 10,000 บาท แก่กลุ่มเปราะบางในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึงท่าทีของ FED ต่อการลดดอกเบี้ย โดย SET Index ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2567 ปิดที่ 1,359.07 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ 44,404 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 6,133 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 123,692 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ นโยบายการเงินของ FED ที่คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า และสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งคาดหวังว่าจะกระตุ้นการลงทุน ซึ่งรวมถึงผลการออกกองทุนวายุภักษ์ ที่จะมีเม็ดเงิน 1.5 แสนล้านบาท บวกกับ เม็ดเงินจากกองทุน ThaiESG อีก 6 หมื่นล้านบาท รวมประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นตลาดทุนไทย และสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือของไทยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว
นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสขยายตัว 3% +- แต่โจทย์สำคัญของรัฐบาลในขณะนี้คือความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ เมื่อเป็น รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากพรรคการเมืองเดิม ทำให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบายที่สามารถเดินหน้าต่อได้ทันที ทั้งกองทุนวายุภักดิ์ และโครงการเติมเงินหนึ่งหมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
ส่วนปัญหนี้ NPL ที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์และที่อยู่อาศัย มองว่าเมื่อการเมืองชัดเจน ภาพรวมเริ่มคลี่คลายลง แต่เศรษฐกิจฐานรากยังมีปัญหา ซึ่งการเร่งดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในกลุ่มเปราะบาง จะช่วยหมุนเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ ซึ่งควรมีมาตการที่ง่าย ตรง ไม่ซับซ้อน แต่ในระยะถัดไปรัฐบาลต้องกิโยตินกฎหมายฟื้นเศรษฐกิจโดยไม่ต้องใช้เงิน และมีมาตรการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ได้เตรียมไว้แล้ว โดยเฉพาะโครงสร้างทางเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน แบงก์พาณิชย์ ที่มีกำไรสูง จากความแข็งแกร่งของลูกค้ารายใหญ่ ควรทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล เพื่อนำกำไรมาช่วยเหลือกลุ่มลูกค้า SMEs และกลุ่มเปราะบาง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินต่อไปข้างหน้า
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมองว่า ช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการปรับลดคือช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ และเศรษฐกิจโตต่ำที่สุดไปแล้ว แต่สาเหตุที่ กนง. ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจเป็นเพราะ กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยในระดับ 2.50% ต่อปี จึงเหมาะสม ซึ่งส่วนตัวเห็นตรงกันว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.0-2.50% ต่อปีในขณะนี้ อยู่ในระดับที่เหมาะสมเช่นกัน เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทย มีเครื่องยนต์เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก ดั้งนั้นความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจมีไม่มากแล้ว.-516-สำนักข่าวไทย