กรุงเทพฯ 22 มิ.ย.- ตัวแทนผู้เสียหาย STARK ขอบคุณนายกฯ ตามตัว “ชนินทร์” กลับไทยพรุ่งนี้ หวังภาครัฐดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องร่วมรู้เห็นเป็นใจครบชุด
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษาสำนักกฎหมาย VLA และตัวแทนผู้เสียหายกลุ่มรวมพลังสตาร์ค กว่า 300 ราย เสียหายรวมกันกว่า 900 ล้านบาท เปิดเผยว่า ทราบข่าวภายในมาก่อนว่าทางการไทยพบแหล่งกบดานของนายชนินทร์ อดีตผู้บริหาร บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) มาระยะหนึ่ง และพยายามประสานติดตามตัวมาต่อเนื่อง ถือเป็นข่าวเชิงบวกและขอบคุณรัฐบาล และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่นำตัวจำเลยรายสำคัญกลับมาเข้ากระบวนการยุติธรรมได้สำเร็จ
“สิ่งสำคัญจากนี้คือ การเค้นข้อมูลและเชื่อมโยงพยานหลักฐานให้ศาลเห็นว่าเรื่องนี้ไม่อาจกระทำโดยเพียงนายชนินทร์โดยลำพัง แต่ยังมีผู้เกี่ยวข้องร่วมรู้เห็นเป็นใจอีก และบางรายยังไม่ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา แต่กลุ่มรวมพลังสตาร์ค ทั้งในส่วนผู้เสียหายหุ้นกู้และหุ้นสามัญ ก็ได้เดินหน้าฟ้องจำเลยเบื้องต้นไป 24 ราย เป็นคดีแพ่ง อีกทั้งได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการในคดีอาญาด้วยเช่นกัน และจะเดินหน้าทวงความรับผิดชอบจากผู้มีส่วนก่อความเสียหายอย่างเต็มที่ผู้เสียหายสามารถรับข้อมูลการร่วมสู้คดีได้ทางไลน์ทางการ @ThaiStark ” นายวีรพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ คดี STARK เป็นหนึ่งในปัญหาที่ลดความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย
นายกรัฐมนตรี ได้ประสานรัฐไปยังสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อขอให้ช่วยติดตามจับกุมตัวนายชนินทร์ และจับกุมได้ระหว่างที่หลบหนีคดีอยู่ที่นครดูไบ และสั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปรับตัวนายชนินทร์ กลับมาดำเนินคดีในไทยทันที โดยจะกลับมาถึงประเทศไทยใน วันพรุ่งนี้ (23 มิ.ย.)
คดีหุ้น STARK ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 มีผู้เสียหายทั้งสิ้น 4,704 ราย มูลค่าความเสียหาย 14,778 ล้านบาท (คดีพิเศษที่ 57/2566) ดีเอสไอสั่งฟ้องผู้ต้องหา รวม 11 คน ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นอกจากการดำเนินคดีอาญาแล้ว คณะพนักงานฯ พบว่ามีการนำเงิน 10,000 ล้านบาท โอนเข้ากลุ่มบริษัทของผู้ต้องหาเพื่อไปชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า รวมทั้งยักย้ายถ่ายเทเข้าบัญชีส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน (ปปง.) ติดตามยึดทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
คดีหุ้น STARK เป็นการฉ้อโกงใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีการวางแผนซับซ้อน นับตั้งแต่นายวนรัชต์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน STARK เมื่อปี 2561 และนายชนินทร์ เป็นซีอีโอ มีการตกแต่งบัญชี สร้างรายได้เทียม สร้างลูกหนี้เท็จ ทำให้ STARK กลายเป็น บจ.ที่มีอนาคต ผลกำไรเติบโต นักลงทุนไล่ซื้อหุ้น STARK และติดค้างถือหุ้นอยู่จำนวน 9,613 ราย ในขณะที่มี
ผู้ถือหุ้นกู้จำนวนประมาณ 6,000 ราย ที่ลงทุนหุ้นกู้ประมาณ 9.1 พันล้าน
บาท
การฟ้องร้อง STARK ยังมีการรวมกลุ่มฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action ครอบคลุมกลุ่มผู้เสียหายหุ้นสามัญ ตามนิยามสมาชิกกลุ่ม คือ บุคคลที่เข้าซื้อหรือขายหุ้น STARK ในช่วงระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ถึง 16 มิถุนายน 2566 ที่ได้รับความเสียหาย (ซึ่งเป็นช่วงที่ STARK เผยแพร่ข้อมูลงบการเงินปี 2564 และ 2565 ที่มีข้อมูลเท็จ)
โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีแบบกลุ่มในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. – 511สำนักข่าวไทย