กรุงเทพฯ 27 พ.ค. – กสทช. เผยเร่งสางเบอร์โมบายแบงก์กิ้งแปลกปลอมและต้องสงสัย ตั้งทีมร่วม ปปง. และธนาคารต่างๆ มุ่งกำจัดซิมผีที่อยู่ในความครอบครองของมิจฉาชีพ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่ กสทช. เป็นตัวกลางคัดกรองเบอร์ที่ผูกโมบายแบงก์กิ้งให้ตรงกัน ซึ่งระหว่างนี้ใช้โมบายแบงก์กิ้งได้ตามปกติ ยังไม่มีการระงับ
พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย และประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ กล่าวว่า ขณะนี้ กสทช. กำลังตรวจสอบคัดกรองบัญชีธนาคารสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือเบอร์โมบายแบงก์กิ้ง (ซิมการ์ด) ที่ผูกกับบัญชีธนาคารซึ่งออกมาตรการว่า เจ้าบัญชีธนาคารและเบอร์โมบายแบงก์กิ้งต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน ในระหว่างนี้โมบายแบงก์กิ้งยังใช้งานได้ตามปกติ โดยยังไม่มีการระงับการทำธุรกรรมออนไลน์แต่อย่างใด
นโยบายดังกล่าวเป็นการขอความร่วมมือจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคาร ให้สำนักงาน กสทช. เป็นตัวกลางในการประสานงานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการตรวจสอบข้อมูล ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหามิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการทำธุรกรรมออนไลน์
สำหรับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่มีกว่า 130 ล้านหมายเลข ส่วนโมบายแบงก์กิ้งมีประมาณ 106 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การตรวจสอบต้องใช้เวลานาน โดยไม่แน่ใจว่า 4 เดือน จะแล้วเสร็จหรือไม่ แต่สำนักงาน กสทช.จะเร่งดำเนินการ เมื่อตรวจสอบคัดกรองแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นหน้าที่ของธนาคาร ซึ่งจะพิจารณาว่าจะให้ผู้ถือบัญชีธนาคารรายใดมาเปลี่ยนเพื่อให้ตรงกับเบอร์โมบายแบงก์กิ้ง
ทั้งนี้ เป้าหมายในการตรวจสอบ คือ คัดกรองเบอร์โมบายแบงกิ้งที่ผูกกับ “ซิมผี” ที่มีการปลอมแปลงเอกสารมาเปิดใช้ซิมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ บัญชีที่นำมาผูกกับ “ซิมผี” ก็เป็น “บัญชีม้า” ซึ่งเปิดไว้เพื่อรองรับการโอนเงินที่ผิดกฎหมาย เมื่อถูกตำรวจจับ ผู้ถือบัญชีจึงมีช่องปฏิเสธว่า ไม่ทราบว่าซิมที่มาผูกกับบัญชีธนาคารเป็นซิมของใคร อีกทั้งยังมีลักษณะที่ว่า ซิมเดียวผูกกับบัญชีโมบายแบงก์กิ้งนับสิบบัญชี จึงสามารถถ่ายโอนเงินจากบัญชีหนึ่งไปอีกบัญชีหนึ่งเป็นทอดๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้น หากคัดกรองและกำหนดให้เจ้าของซิมและเจ้าของบัญชีเป็นคนเดียวกัน จะปิดช่องทางที่บัญชีม้าจะปฏิเสธว่าไม่ทราบที่มาที่ไปของเงินในบัญชีไม่ได้ และจะถูกดำเนินคดีตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ดังนั้น มาตรการนี้จึงเป็นมาตรการสำคัญในการสกัดซิมผีบัญชีม้าในระบบการโอนเงินออนไลน์
ขั้นตอนการคัดกรองโมบายแบงก์กิ้ง มีดังนี้
1. ธนาคารจะเป็นผู้รวบรวมบัญชี (เลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือเลขหนังสือเดินทาง) พร้อมเบอร์โทรโมบายแบงก์กิ้งที่ผูกกับบัญชีธนาคาร ส่งให้ ปปง. ตามช่องทางที่กำหนด
2. ปปง. รับข้อมูลเลข ID ประจำตัว และเบอร์โมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารหัส แล้วเปิดช่องทางสื่อสารข้อมูลให้ กสทช.
3. กสทช. รับข้อมูลดังกล่าวจาก ปปง. นำเบอร์โมบายแบงก์กิ้งมาแยกเครือข่าย เพื่อส่งตรวจหารายชื่อผู้ถือครอง และตรวจเปรียบเทียบกับรายชื่อเจ้าของบัญชีว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ แล้วแจ้งผลให้ ปปง. และธนาคารทราบ
ส่วนที่ในระยะนี้มีผู้ใช้บริการผ่านหมายเลขโทรศัพท์ (ซิมการ์ด) ที่ชื่อไม่ตรงกับบัญชีธนาคาร เกิดความกังวลว่าจะไม่สามารถทำธุรกรรมได้ จึงรีบติดต่อธนาคารเพื่อเปลี่ยนให้ตรงกับหมายเลขโทรศัพท์นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่สุจริตชนพึงกระทำให้ถูกต้อง จะทำให้บัญชีโมบายแบงก์กิ้งที่เหลืออยู่และไม่ตรงกับซิมการ์ด ตรวจสอบง่ายขึ้นว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่
มาตรการตรวจสอบคัดกรองดังกล่าว เป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ โดย ปปง. ซึ่งอยู่ในคณะอนุกรรมการชุดนี้ด้วย ระบุว่า หากมีเหตุผลเพียงพอ สามารถอธิบายความจำเป็นในการใช้งานได้ จะเป็นดุลยพินิจของธนาคารให้การพิจารณายกเว้น ไม่ระงับการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ เช่น การเปิดโมบายแบงก์กิ้งให้กับบุตรหลานที่เป็นเด็กหรือเยาวชน หรือบิดามารดาผู้สูงวัย เบอร์องค์กรที่แสดงตัวตนได้ชัดเจน เป็นต้น
อีกทั้งในเร็วๆ นี้ สำนักงาน กสทช. จะประชุมหารือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการที่ต้องเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองให้ตรงกับโมบายแบงก์กิ้ง ไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนเกินจำเป็น โดยให้มีรายการส่งเสริมการขายที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์มากที่สุด
ส่วนผลการยืนยันตัวตนของผู้ถือครองซิมตั้งแต่ 6 หมายเลขขึ้นไป ตามประกาศ กสทช. โดยกลุ่มที่ 1 ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข จะครบกำหนด 180 วัน ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ส่วนกลุ่มที่ 2 ตั้งแต่ 101 หมายเลขขึ้นไป ได้ครบกำหนดไปตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ล่าสุด กสทช. ระงับซิมที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช.ไปแล้วถึง 2,137,465 เลขหมาย.-512-สำนักข่าวไทย