ทำเนียบฯ 12 มี.ค. – ครม. เข้มคลอด ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มสุรา ห้ามโฆษณา อวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจ ทำผิดจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บังคับใช้หลัง 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยแก้ไขคำนิยาม “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และ “การสื่อสารการตลาด” และเพิ่มเติมคำนิยาม “ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เพื่อให้มีความชัดเจนและครอบคลุมการบำบัดรักษาในกลุ่มบุคคลมากยิ่งขึ้น
ด้านบทกำหนดโทษ เช่น เพิ่มเติมโทษในกรณีที่ฝ่าฝืนบริโภคเครื่องดื่มสุราในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่ม ปรับไม่เกิน 10,000 บาท เพิ่มอัตราโทษปรับในกรณีผู้กระทำความผิดเป็นผู้ผลิตหรือนำเข้า จากเดิม “ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เป็น “ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ในด้านการโฆษณา ได้เพิ่มหมวดว่าด้วยการโฆษณา ได้ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่ออวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจ และห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใด ตลอนจนห้ามมิให้การอุปถัมภ์หรือให้การสนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน โดยไม่ใช้บังคับกับการบริจาคหรือการช่วยเหลือตามมนุษยธรรมในกรณีที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง
กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ โดยมี รัฐมันตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กระทรวงอุดมศึกษาฯ เป็นกรรมการ กำหนดนโยบาย แผนงาน และการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกี่ยวกับผู้มีปัญหาจากการดื่มสุรา เสนอแผนยุทธศาสตร์หรือแผนปฏิบัติการ การบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดสุรา การกำหนดวันหรือเวลาห้ามขายหรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มสุรา ห้ามดื่ม ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มสุรา
การเพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด เช่น อัยการจังหวัด ปลัดจังหวัด เปลี่ยนกรรมการโดยตำแหน่งจากผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาในจังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง เป็นศึกษาธิการจังหวัด และเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข ด้านรณรงค์ทางสังคม เพื่อกำหนดแผนควบคุมเครื่องสุราในระดับจังหวัด
ในหมวดการบำบัดรักษา “การบำบัดรักษาหรือการฟื้นฟูสภาพผู้ติดยาเสพติดแอลกอฮอล์” เพิ่มเป็น “การบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” โดยเพิ่มหน่วยงานที่สนับสนุนเกี่ยวกับการบำบัดฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น
การแก้ไขอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจเข้าไปใน อาคาร สถานที่หรือบริเวณสถานีที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณสถานที่ที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางการค้า เพื่อตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็น ในกรณีอาจกระทำความผิด และมีอำนาจในการเรียกและขอดูบัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารอื่นใด ในกรณีที่มีการกระทำความผิดเพื่อดำเนินคดี.-515 สำนักข่าวไทย