กรุงเทพฯ 30 ก.ค.-เอสเอ็มอีแบงก์ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติภาคอีสานและภาคเหนือ
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคอีสาน ภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม ที่น้ำยังเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เกษตรและพื้นที่ชุมชนในตัวเมือง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าของผู้ประกอบการ SMEs ได้รับความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม นั้น ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เช่น อุทกภัย วาตภัย โคลนถล่ม แผ่นดินไหว เป็นต้น โดยมีมาตรการความช่วยเหลือ 2 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1.การพักชำระหนี้ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ และ/หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มาตรการที่ 2.วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ โดยการช่วยเหลือผู้ประกอบการลูกค้าธนาคาร มาตรการที่ 1 การพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) พักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ส่วนสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N) ออกมาตรการช่วยเหลือพักชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
มาตรการที่ 2. วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นเงินทุนในการปรับปรุงฟื้นฟูและหมุนเวียนในกิจการ โดยเป็นลูกค้าเดิมของธนาคารระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี มีระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 1 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อราย ดังนี้ 1.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนบาท 2.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท 3.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.99 ต่อปีตลอดอายุสัญญา ส่วนหลักประกันให้พิจารณาหลักประกันเดิมก่อนและสามารถใช้หลักประกัน บสย. ค้ำประกัน เฉพาะมาตรการที่เพิ่มไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยวงเงินกู้รวมทั้งโครงการไม่เกิน 15 ล้านบาท
นายมงคล กล่าวว่า ขณะนี้ให้เจ้าหน้าที่สาขาในพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่น้ำท่วมและที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในครั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ลูกค้าธนาคารต่อไป อีกทั้งผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว ธนาคารจะเร่งนำเสนอขออนุมัติมาตรการเงินช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยมีเงื่อนไขผ่อนปรนพิเศษ ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) อย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าวให้เร็วที่สุดโดยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357 หรือสาขาในจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียง-สำนักข่าวไทย