ยอดลงทุนต่างด้าวปี 66 ในไทยสูงถึง 127,532 ล้านบาท

นนทบุรี 24 ม.ค.-อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุยอดคนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยตามกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 รวมทั้งสิ้น 667 ราย คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 127,532 ล้านบาท โดยญี่ปุ่นลงทุนเป็นอันดับหนึ่ง 32,148 ล้านบาท ตามด้วย สิงคโปร์ 25,405 ล้านบาท และฮ่องกง 17,325 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 6,845 คน


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าวว่า  ในปี 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 รวมทั้งสิ้น 667 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 228 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 439 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 127,532 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวม 6,845 คน 

ทั้งนี้ ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 137 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.5 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในปี 2566 มีเงินลงทุน 32,148 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการที่เป็นคู่สัญญากับภาคเอกชน (บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้ง ทดสอบระบบ ซ่อมแซมและบำรุงรักษาท่อส่งก๊าซสำหรับโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ)  ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลการใช้ก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ ของธุรกิจ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนยานพาหนะ / ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์) ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อการค้าส่งในประเทศ


สิงคโปร์ จำนวน 102 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.3 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในปี 2566 มีเงินลงทุน 25,405 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต / ประกันวินาศภัย  ธุรกิจโรงแรม  ธุรกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์ม 

สหรัฐอเมริกา จำนวน 101 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.1 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในปี 2566 มีเงินลงทุน 4,291 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม / ยารักษาโรค / อุปกรณ์กีฬา) ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนา ติดตั้ง วางระบบเกี่ยวกับโปรแกรมซอฟต์แวร์ (Software) และแอปพลิเคชัน (Application)  ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการงานด้านต่างๆ เช่น ด้านการวางแผนทางธุรกิจ ด้านการประสานงานทางธุรกิจ ด้านการจัดการองค์กร เป็นต้น

จีน จำนวน 59 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.9 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในปี 2566 มีเงินลงทุน 16,059 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการก่อสร้าง รวมทั้งติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ  ธุรกิจบริการบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง  ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม / ชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนพลาสติก / ชุดแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า)     ธุรกิจกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลางสำหรับซื้อ-ขายสินค้า


ฮ่องกง จำนวน 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.1 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในปี 2566 มีเงินลงทุน 17,325 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการบำรุงรักษา และซ่อมแซมรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์/ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ / เม็ดพลาสติกรีไซเคิล) ธุรกิจบริการสินเชื่อแก่ผู้จัดจำหน่ายสินค้าที่เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ธุรกิจบริการจองบัตรโดยสารสายการบินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการขุดเจาะและการบำรุงรักษาหลุมปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการบำรุงรักษาและดูแลชิ้นส่วน เครื่องมือ อุปกรณ์ สำหรับงานซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมแอปพลิเคชันเพื่อความปลอดภัยและการจัดการข้อมูลส่วนตัว 

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 84 ราย (14%) (ปี 2566 อนุญาต 667 ราย / ปี 2565 อนุญาต 583 ราย) แม้มูลค่าการลงทุนจะลดลง 1,242 ล้านบาท (1%) (ปี 2566 ลงทุน 127,532 ล้านบาท / ปี 2565 ลงทุน 128,774 ล้านบาท) แต่มีการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 1,592 ราย คิดเป็นร้อยละ 30 (ปี 2566 จ้างงาน 6,845 คน / ปี 2565 จ้างงาน 5,253 คน) 

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ปี 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 134 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 13% มีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 38,613 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น 44 ราย ลงทุน 7,053 ล้านบาท จีน 30 ราย ลงทุน 4,128 ล้านบาท ฮ่องกง 10 ราย ลงทุน 14,573 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 50 ราย ลงทุน 12,859 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจบริการจัดหา ติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่างๆ ที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจ  ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์/ ชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนพลาสติก/ ชิ้นส่วนยานพาหนะ) ธุรกิจบริการปรับปรุง ซ่อมแซม REFRIGERATION AIR DRYER AIR FILTER

อย่างไรก็ตาม เฉพาะเดือนธันวาคม 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 55 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 19 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 36 ราย เงินลงทุน 29,244 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มีการจ้างงานคนไทย 759 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยการใช้งานเครื่องซีทีสแกน องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับการฉีดสารทึบรังสีสำหรับเครื่องตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบเทเลมาตกส์ (Telematics) และองค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพ รับประกัน และออกใบรับรองด้านคุณภาพรถยนต์ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในเดือนธันวาคม 2566 ได้แก่ ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยประเภทการจัดการให้มีการประกันภัยโดยตรง ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แผ่นยิปซั่ม / อุปกรณ์สำหรับสร้างการเคลื่อนที่ด้วยไฟฟ้า / ชิ้นส่วนของรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร) ธุรกิจบริการคลาวด์ (Cloud Services) โดยเป็นการให้บริการในด้านซอฟต์แวร์ (SOFTWARE-AS-A-SERVICE) เพื่อจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ธุรกิจบริการตรวจสอบคุณภาพสินค้าประเภทชิ้นส่วนรถยนต์.-514-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง นายก อบจ.อุบลฯ เดือด ส่งท้ายปี

ใกล้เข้ามาทุกขณะสำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคมนี้ ซึ่งถือเป็นสนามเลือกตั้งท้องถิ่นขนาดใหญ่ส่งท้ายปีนี้ การแข่งขันดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครต่างเร่งหาเสียงกันอย่างเต็มที่ โดยมีผู้สมัคร 4 คน ลงชิงชัย ไปติดตามบรรยากาศโค้งสุดท้ายว่าใครจะเป็นผู้คว้าชัย

ทอ.ส่ง F-16 ขึ้นบินป้องน่านฟ้า หลังมีอากาศยานไม่ทราบฝ่าย เหนือชายแดนไทย-เมียนมา

กองทัพอากาศส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ขึ้นบิน เพื่อพิสูจน์ฝ่ายและสกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก

อุตุฯ เผยอีสาน-เหนือ อากาศหนาว กทม.อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย

กรมอุตุฯ เผยภาคอีสาน ภาคเหนือ มีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน มีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น

lightened Christmas tree in front of U.S. Capitol

รู้จัก “ชัตดาวน์” ของสหรัฐและผลกระทบ

วอชิงตัน 20 ธ.ค.- หน่วยงานจำนวนมากของรัฐบาลสหรัฐเสี่ยงต้องปิดทำการชั่วคราว หรือที่เรียกว่า กัฟเวิร์นเมนต์ ชัตดาวน์ (government shutdown) หลังผ่านพ้นเที่ยงคืนวันนี้ (20 ธันวาคม) ตามเวลาสหรัฐ หากรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ได้ทันเวลา หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติไม่เห็นชอบร่างงบประมาณฉบับใหม่เมื่อวานนี้ สาเหตุที่เสี่ยงชัตดาวน์ ปกติแล้วรัฐสภาสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานรัฐบาลกลางทั้งหมด 438 แห่งก่อนวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี แต่ที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภามักทำไม่ได้ตามกำหนดเวลา และมักผ่านร่างงบประมาณชั่วคราวเพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ต่อไปในระหว่างที่สมาชิกรัฐสภาหารือกันเพื่อผ่านร่างงบประมาณจริง ร่างงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะหมดอายุเมื่อเข้าสู่เช้าวันเสาร์ตามเวลาสหรัฐ สมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตเตรียมร่างกฎหมายที่จะขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2568 แต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันลงมติไม่เห็นด้วย และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติไม่เห็นชอบร่างงบประมาณที่เสนอใหม่ ดังนั้นหากรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ได้ก่อนที่ร่างงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะหมดอายุ ก็จะเกิดการชัตดาวน์ เพดานหนี้ที่ทรัมป์ต้องการให้แก้ นายทรัมป์ยังต้องการให้สมาชิกรัฐสภาแก้ปัญหาเรื่องการกำหนดเพดานหนี้ประเทศให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมได้มากขึ้น ก่อนที่เขาจะสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม 2568 รัฐสภาสหรัฐเป็นผู้กำหนดเพดานหนี้สาธารณะที่อนุญาตให้รัฐบาลก่อหนี้ แต่เนื่องจากรัฐบาลมักใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษี สมาชิกรัฐสภาจึงต้องคอยแก้ปัญหานี้เป็นครั้งคราว รัฐสภาสหรัฐกำหนดเพดานหนี้สาธารณะครั้งแรกในปี 2482 โดยกำหนดไว้ที่ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.55 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน) และนับจากนั้นเป็นต้นมาได้ขยายเพดานหนี้แล้วทั้งหมด 103 […]

ข่าวแนะนำ

ฟรีคอนเสิร์ต “มหานครคัลเลอร์ฟูลปาร์ตี้ 2025” ส่งสุขรับปีใหม่

ส่งความสุขรับปีใหม่ กับฟรีคอนเสิร์ต “มหานครคัลเลอร์ฟูลปาร์ตี้ 2025” ศิลปินลูกทุ่งเกือบ 100 ชีวิต ร่วมโชว์จัดเต็ม

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ “กานต์” ส่อเข้าป้าย

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี “กานต์” หมายเลข 1 จากเพื่อไทย ส่อเข้าป้าย ด้าน ปชน. แถลงยอมรับยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ ส่วนอุตรดิตถ์ “ชัยศิริ” อดีตนายก อบจ. ส่อเข้าวิน

เด้ง ตร.จราจร ปมคลิปรับเงินแลกไม่เขียนใบสั่ง

ผบก.ภ.จว.นนทบุรี สั่งย้าย “รอง สว.จร.สภ.รัตนาธิเบศร์” เซ่นคลิปรับเงินแลกไม่ออกใบสั่ง พร้อมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงภายใน 3 วัน ด้านเจ้าตัวอ้างไม่เห็นเงินที่วางบนโต๊ะในตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร