กรุงเทพฯ 12 ก.ย.-นักวิชาการสิ่งแวดล้อม สำนักทรัพยากรทางทะเล จังหวัดชลบุรี ชี้สาเหตุปลาตายเกลื่อนตามชายหาด เกิดจาก Plankton Bloom ยันไม่ใช่เกิดจากคราบน้ำมันในทะเล
จากกรณีแพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) หรือ ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ที่เกิดขึ้นบริเวณชายหาดบางแสนบางพระ และพัทยา จนทำให้ปลาหลากหลายชนิดตายเกลื่อนชายหาด
นายสัญชัย ชนะสงคราม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการฯกล่าวว่าจากการลงพื้นที่ตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์ว่าปลาตายจำนวนมากเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เรียกว่า แพลงก์ตอนบลูม(Plankton Bloom) ซึ่งทำให้น้ำทะเลเป็นสีเขียวและน้ำมีกลิ่นแรง และยังทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำส่งผลให้ปลาขาดออกซิเจนและตายเป็นจำนวนมาก ขณะนี้ในพื้นที่บางพระ น้ำทะเลก็ยังสีเขียวอยู่มากแต่ไม่พบผลกระทบแนวปะการัง และไม่พบคราบน้ำมันจากการสุ่มเก็บตัวอย่างและการลงพื้นที่ ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลอย่างต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ที่เกิดขึ้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพียงแต่จะทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียว และมีกลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นักท่องเที่ยวจึงไม่ควรลงเล่นน้ำ เนื่องจากอาจมีอาการคันและระคายเคืองได้ส่วนอาหารทะเลนั้น สามารถจับและรับประทานได้ตามปกติ
สำหรับแนวทางการแก้ไขเรื่องแพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) นั้น นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการฯ ให้ความเห็นว่า ควรให้ความรู้เกี่ยวกับ แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ต่อประชาชน และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียอย่างจริงจัง.-สำนักข่าวไทย