กรุงเทพฯ 3 ส.ค.- ผู้ว่ากฟผ. เผย กฟผ. ยังมีหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท จากการแบกรับภาระค่า Ft เป็นการชั่วคราวกว่า 1.5 แสนล้านบาท จากนี้จะขยายเวลาชำระหนี้ไม่ได้แล้ว เพราะเกรงส่งผลกระทบกับกระแสเงินสด
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กฟผ. ยังมีหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท จากการแบกรับภาระค่า Ft เป็นการชั่วคราวกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุด กกพ.มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดเดือน ก.ย.–ธ.ค.2566 อยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย ปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (เดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ) ที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย หรือลดลง 0.25 สตางค์ต่อหน่วย
โดยค่า Ft 66.89 สตางค์ดังกล่าว เกิดจากค่า Ft ที่แท้จริงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลให้การทยอยชำระหนี้ของ กฟผ. เพิ่มจากเดิมอีก 1 งวด ซึ่งเหลือต้องชำระหนี้อีก 5 งวดๆ ละ 23,428 ล้านบาท โดยจะชำระสิ้นสุดสิ้นเดือนเมษายน 2568 จากเดิมต้องงสิ้นสุดธันวาคม 2567
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า การขยายเวลาชำระหนี้ครั้งนี้จะสามารถทำได้เป็นครั้งสุดท้าย เพราะยิ่งยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปก็จะส่งผลกระทบกับกระแสเงินสด และความเชื่อมั่นของกฟผ. และเมื่อ กฟผ. ต้องแบกค่า Ft จึงต้องเจรจาคู่สัญญา เรื่อง การชำระเงิน
“กฟผ.ไม่สามารถยืดหนี้ออกไปได้มากกว่านี้ เพราะจะส่งกระทบต่อกระแสเงินสดและสภาพคล่องของ กฟผ. เนื่องจาก เรากู้เงินมาจากเจ้าหนี้ก็ต้องชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยรวมอยู่ที่งวดละ 5 ร้อยกว่าล้านบาท หากเราไม่สามารถชำระได้ตามกำหนดก็จะกระทบต่อเครดิตเรทติ้ง และจะทำให้อัตราค่าดอกเบี้ยของเงินที่จะกู้เงินมาลงทุนต่างๆในอนาคตสูงขึ้น และเมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นลูกโซ่” ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว
นอกจากนี้ ผลกระทบต่อประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือเรื่องการขยายระบบส่งอาจจะทำได้ไม่ดี ไม่มีการปรับปรุงระบบ การสร้างโรงไฟฟ้าจะมีต้นทุนสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน และระบบ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดีแต่ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีมากขึ้น เพราะหลังสถานการณ์โควิด และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นรวมถึงการลงทุนต่างๆที่มีแนวโน้มจะดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตสูงขึ้น ดังนั้นจึงค้องเตรียมความพร้อมของระบบทั้งระบบส่งระบบผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้งบประมาณและเวลาในการเตรียมการ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีผลกระทบในระยะยาว.-สำนักข่าวไทย