นนทบุรี 25 ม.ค. – กฟผ. ร่วมกับ อ.อ.ป. ศึกษาพื้นที่ศักยภาพปลูกพืชพลังงานเพื่อเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับโรงไฟฟ้า หวังเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด เพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน เดินหน้าประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
วานนี้ (24 มกราคม 2567) ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รักษาการผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี
ดร.จิราพร ศิริคำ รักษาการผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า การผลิตและจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลมาผสมร่วมกับถ่านหินให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการปลูกไม้โตเร็ว กฟผ. จึงร่วมกับ อ.อ.ป. ศึกษาและประเมินพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับปลูกพืชพลังงานชีวมวล เพื่อให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลสำหรับผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ ซึ่งผลการศึกษาจะสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี อีกทั้งยังถือเป็นก้าวสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มศักยภาพการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้ ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต รวมทั้งรายได้ที่เกิดจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.
นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวว่า อ.อ.ป. มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมป่าไม้ รวมทั้งการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขับเคลื่อนการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และการใช้ศักยภาพของสวนป่าเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 จากความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไม้ที่ปลูก โดยนำมาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล สำหรับผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และประเทศชาติต่อไป
สำหรับพลังงานชีวมวลนับเป็นอีกพลังงานทางเลือกที่ กฟผ. ดำเนินการศึกษา เพื่อก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ภายใต้กลยุทธ์ ‘Triple S’ คือ Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน Sink Co-creation เพิ่มศักยภาพการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้ และ Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ . 511 – สำนักข่าวไทย