กรุงเทพฯ 2 ม.ค. – คลังแนะประชาชนเก็บใบเสร็จจากการซื้อสินค้าและบริการ “ช้อปดีมีคืน ปี 2566” เอาไว้หักลดหย่อนภาษี
หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการ “ช้อปดีมีคืน 2566” เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 แก่ประชาชน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.66 ถึงวันที่ 15 ก.พ.66 นับว่าประชาชนเริ่มเก็บใบเสร็จจากการซื้อสินค้าและบริการ กระทรวงการคลัง จึงแนะนำให้ประชาชน ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา ขอให้เก็บใบเสร็จเอาไว้หักลดหย่อนภาษี สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยใช้ใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ตามเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี กระทรวงการคตลัง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข มีดังนี้
- แนะนำให้เก็บใบเสร็จจากการซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ไม่เกิน 30,000 บาท โดยเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบกระดาษ หรือใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร
- เมื่อซื้อสินค้าหรือค่าบริการผ่านออนไลน์ ไม่เกิน 10,000 บาท ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น
โดยสินค้าและบริการสามารถลดหย่อนภาษีได้ ต้องเป็นร้านค้าจดทะเบียนภาษี VAT สามารถออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มรูปแบบ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร หนังสือ ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์หรืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ทุกประเภท (ยกเว้นหนังสือประเภทนิตยสารและหนังสือพิมพ์) สำหรับสินค้าและบริการที่ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าประปา หนังสือพิมพ์และนิตยสาร ทั้งกระดาษ และอิเล็กทรอนิกส์ บริการจัดนำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย ค่าโทรศัพท์และค่าอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ กรมสรรพากร ยังแนะนำผู้ประกอบการ ร้านค้า จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือมีหน้าที่ออกใบ สามารถยื่นคำขอจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tax) เพื่อเข้าร่วมมาตรการช้อปดีมีคืน 2566 ดังนี้
- ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt สำหรับผู้ประกอบการ ร้นค้า จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีระบบส่งและเก็บรักษาข้อมูลที่เชื่อถือได้ เหมาะกับการออกใบกำกับภาษีจำนวนมากและเป็นระบบบัญชีขนาดใหญ่ โดยเป็นการจัดทำข้อมูลใบกำกับภาษี รวมถึงใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับ ให้อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Microsoft Word, Microsoft Excel, PDF หรือ PDF/A-3 ที่ได้ลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ส่งมอบแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ส่วนการนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรต้องจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ในรูปแบบ XML File ตามมาตรฐานเท่านั้น
- ระบบ e-Tax Invoice by Email สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท/ปี ระบบนี้เหมาะกับการออกใบกำกับภาษีจำนวนน้อยและเป็นระบบบัญชีขนาดเล็ก โดยเป็นการจัดทำข้อมูลใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดในรูปแบบ PDF/A-3 มีข้อมูล XML ตามรูปแบบที่กำหนด รับรองเอกสารโดยการประทับรับรองเวลา (Times tamp) จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และส่งมอบแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการผ่าน e-mail ส่วนการนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ
สำหรับขั้นตอนการยื่นคำขอจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ระบบ e-Tax Invoice by Email ขั้นตอนการยื่นคำขอจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ระบบ e-Tax Invoice by Email
ส่วนขั้นตอนการยื่นคำขอจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ระบบ e-Tax Invoice by Email มีดังนี้
- เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th เพื่อยื่นคำขอ
- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและตรวจสอบข้อมูล พิมพ์เอกสาร ก.อ.01 เพื่อลงนาม
- สแกน ก.อ.01 และเอกสารเกี่ยวข้องเพื่ออัปโหลดเอกสาร
- กรมสรรพากรตรวจสอบความถูกต้องและจัดส่งเอกสารยืนยันทางไปรษณีย์ พร้อมรหัสยืนยัน (Activate Code)
- ยืนยันตัวตนผ่านทางเว็บไซต์ และกำหนดรหัสผ่านภายใน 15 วันทำการ
- แจ้งอีเมลที่ประสงค์จะใช้ในการส่งใบกำกับภาษีและใบรับ
- ตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุมัติ ก.อ.01 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร
ผู้ประกอบการสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://etax.rd.go.th/ หรือสายด่วน โทร.1161. – สำนักข่าวไทย