ทำเนียบฯ 21 ก.ย.-รัฐบาลอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 6 เดือนแรกปี 65 ส่งผลเกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 44,000 ตำแหน่ง หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จ้างงานมากเป็นอันดับหนึ่ง วิศวกรรมศาสตร์ยังเป็นสาขาที่ต้องการมากที่สุด
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม – มิถุนายน 2565) ว่ามีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) จำนวน 750 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 375,670 ล้านบาท โดยเป็นการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน309 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 41 ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งสิ้น โดยมีมูลค่ารวม 131,580 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าการอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด ซึ่งอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหารมีจำนวนโครงการมากที่สุด และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 สามารถสร้างงานให้คนไทย 43,833 ตำแหน่ง โดยโครงการในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการจ้างงานมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 31 ของการจ้างแรงงานไทย ซึ่งมีการจ้างงานประมาณ 13,575 ตำแหน่ง ตามมาด้วยหมวดอุตสาหกรรมเบา คิดเป็นร้อยละ 19 หรือประมาณ8,261 ตำแหน่ง และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง คิดเป็นร้อยละ 17 ของการจ้างแรงงานไทยหรือ ประมาณ 7,363 ตำแหน่ง
ขณะที่ผลการสำรวจความต้องการแรงงานของโครงการที่ออกบัตรส่งเสริมในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2565 พบว่ามีความต้องการแรงงานทั้งหมด 104,314 คน โดยหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือ 42,308 คน หรือร้อยละ 41 ของความต้องการแรงงานทั้งหมด รองลงมา คือหมวดผลิตภัณฑ์โลหะเครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง โดยหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปมากที่สุด คือ 4,500 คน หรือร้อยละ 29 ของความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปทั้งหมด รองลงมา คือหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปประมาณร้อยละ22 ขณะที่หมวดอุตสาหกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และบริการและสาธารณูปโภค มีร้อยละความต้องการแรงงาน ระดับปริญญาตรี สูงกว่าการศึกษาระดับอื่น โดยมีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรี ร้อยละ 86 และ 72 ของความต้องการแรงงานรวม ตามลำดับ ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่น มีร้อยละความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรี เฉลี่ยร้อยละ 13 ของความต้องการแรงงานรวม
สำหรับแรงงานระดับปริญญาตรีที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ 7,232 คน คิดเป็นร้อยละ 47 ของความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรี รองลงมา คือ สาขาบริหารธุรกิจ เป็นจำนวน 5,981 คน คิดเป็นร้อยละ 39 ของความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรี โดยความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีในสายวิศวกรรรม สาขาที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือสาขาวิศวกรรมการผลิต คิดเป็นร้อยละ 18 ของความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีในสายวิศวกรรมทั้งหมด รองลงมาคือ สาขาอุตสาหการ และเครื่องกล ตามลำดับ ขณะที่ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีในสาขาบริหารธุรกิจ สาขาที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือ สาขาการจัดการและการบริหารองค์กร คิดเป็นร้อยละ 19 ของความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีในสาขาบริหารธุรกิจทั้งหมด รองลงมาคือ สาขาการตลาด และการโรงแรม การท่องเที่ยว/บริการ ตามลำดับ
“โครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ส่งผลสร้างงานให้คนไทยกว่า 4 หมื่นตำแหน่ง โดยโครงการฯ มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีมากที่สุด สะท้อนว่าแรงงานไทยระดับปริญญาตรียังมีความสำคัญกับตลาดแรงงานโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการลงทุน ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 คาดว่าจะมีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงานทุกระดับหลากหลายสาขา ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงขอให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและผู้ที่กำลังจะจบการศึกษา ตลอดจนแรงงานระดับ ปวช. ปวส. ม.6 ซึ่งเป็นแรงงานที่เป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ได้ติดตามข่าวสารการจ้างงาน และเตรียมความพร้อมตนเองในการสมัครเข้าร่วมงานกับภาคอุตสาหกรรมต่อไป” นายอนุชากล่าว.-สำนักข่าวไทย