กรมประมงเดินหน้าทุกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง

กรุงเทพฯ 26 มิ.ย. – อธิบดีกรมประมง เผยปริมาณการนำเข้ากุ้ง 5 เดือนแรกปี 67 คิดเป็นร้อยละ 0.46 ของผลผลิตกุ้งในประเทศช่วงเวลาเดียวกัน จึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ราคากุ้งลดต่ำลง โดยราคากุ้งในประเทศผันผวนตามตลาดโลก ยืนยันยกระดับมาตรการคุมเข้มตามแนวชายแดน ป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันเดินหน้าส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตให้ผู้เลี้ยงไทยมีศักยภาพการแข่งขันเทียบเท่าอินเดียและเอกวาดอร์


นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ประธานกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp Board) กล่าวว่า ราคากุ้งในประเทศมีความผันผวนตามภาวะตลาดโลก โดยราคาที่ลดต่ำลง ไม่ได้เป็นผลกระทบจากการนำเข้า

ทั้งนี้ผลผลิตกุ้งทะเลของไทย ปี 2567 (ม.ค. – พ.ค .67) มีปริมาณรวมประมาณ 92,000 ตัน คาดว่า ทั้งปี 2567 จะมีผลผลิตกุ้งรวม 250,000 ตัน ส่วนการนำเข้าสินค้ากุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยง ปี 2567 (ม.ค. – พ.ค. 67) มีปริมาณ 426 ตัน คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.46 ของผลผลิตกุ้งภายในประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน โดยจากการสอบถามผู้ประกอบการนำเข้าพบว่า ปริมาณกุ้งที่นำเข้าในปี 2567 เป็นกุ้งที่ค้างส่งมอบตามคำสั่งซื้อในปี 2566 แต่ในปี 2567 ยังไม่มีคำสั่งซื้อแต่อย่างใด


หากเปรียบเทียบปริมาณและมูลค่าการนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลในเดือนมกราคม – เดือนเมษายน 2567 ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์กุ้งทะเล (ไม่รวมล็อบสเตอร์) 5,440.42 ตัน มูลค่า 788.49 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 51.65 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 66.46 หากจำแนกชนิดกุ้งพบว่า เป็นกุ้งขาวแวนนาไมเพียง 389.58 ตัน (ร้อยละ 7.16) กุ้งกุลาดำ 2.24 ตัน (ร้อยละ 0.04) และกุ้งอื่นๆ 5,048.61 ตัน (ร้อยละ 92.80)

สำหรับประเทศต้นทางที่นำเข้ากุ้งมายังประเทศมากที่สุดคือ กุ้งทะเลจากอาร์เจนตินาร้อยละ 46.08 ของมูลค่าการนำเข้ากุ้งทะเลทั้งหมด โดยเป็นกุ้งที่ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในประเทศไทย ส่วนการนำเข้ากุ้งทะเลจากอินเดีย และเอกวาดอร์ซึ่งเป็นประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าประเทศไทยพบ ว่า กุ้งจากอินเดียเป็นกุ้งอื่นๆ รวม 268.79 ตันและกุ้งจากเอกวาดอร์เป็นกุ้งขาวแวนนาไมรวม 352.34 ตัน (ที่มา: คณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลด้านกุ้งทะเล ประมวลผลจากกรมศุลกากร, 7 มิถุนายน 2567)

ปริมาณการนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมจากต่างประเทศในปี 2567 (เดือนมกราคม – เดือนเมษายน) รวม 389.58 ตัน เปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตกุ้งขาวแวนนาไมภายในประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งมีปริมาณรวม 63,172.44 ตัน คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.62 ของผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถกระทบต่อราคาจำหน่ายกุ้งภายในประเทศได้ (ที่มา: คณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลด้านกุ้งทะเล, 7 มิถุนายน 2567)


นายบัญชาย้ำว่า กรมประมงมีมาตรการควบคุมการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศ ก่อนการอนุญาตให้นำกุ้งทะเลเข้ามาในราชอาณาจักร ภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยสินค้าจะต้องเข้าสู่ระบบการกักกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงดำเนินการสุ่มตรวจเชื้อก่อโรคกุ้งทะเลที่สำคัญตามบัญชีรายชื่อขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World organization for Animal Health: WOAH) โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ได้แก่ โรคไอเอ็มเอ็น (IMN) โรคเอ็นเอชพี (NHP) และโรคดีไอวี วัน (DIV 1) รวมทั้งมีการสุ่มตรวจสารตกค้างเช่น Chloramphenicol Nitrofurans และ Malachite green ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ตามหลักการสากลที่ WOAH และ CODEX กำหนดไว้ และหากมีการตรวจพบเชื้อก่อโรคและ/หรือตรวจพบสารตกค้างเกินเกณฑ์มาตรฐาน สินค้าเหล่านั้นจะถูกทำลายหรือตีกลับประเทศต้นทางทันที

การประกาศงดการออกหนังสืออนุญาตนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศ ต้องเป็นมาตรการที่ดำเนินการในกรณีฉุกเฉินซึ่งเป็นกุ้งที่ได้จากการทำการประมงและมีเหตุอันควรที่ใช้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะประเทศไทยและประเทศผู้ผลิตกุ้งทะเลเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ต้องปฏิบัติตามความตกลงภายใต้ WTO โดยมาตรการที่ใช้ในการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร หรือมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ควบคุมสินค้าเกษตรและอาหารต้องกำหนดระดับความปลอดภัยและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าที่ไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้า หรือข้อกีดกันทางการค้าของประเทศสมาชิก ดังนั้น ทำให้ประเทศไทยและประเทศสมาชิกไม่สามารถกำหนดมาตรการการห้ามนำเข้าได้อย่างถาวร

ปัจจุบันได้มีการยกระดับมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำตามนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขอความร่วมมือไปยังจังหวัดชายแดนเพื่อควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ โดยมีมาตรการดังนี้

  1. เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบสินค้าประมงเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายได้แก่

1.1 ตรวจสอบเอกสาร หมายเลขซีล และสินค้าประมงนำเข้าเบื้องต้นร้อยละ 100 จำนวน 4 ด่าน ได้แก่ ศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต 3 (กรุงเทพมหานคร) ด่านตรวจประมงลาดกระบัง ด่านตรวจประมงชลบุรี และศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต 8 (สงขลา) และทำการติดซีลตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อป้องกันการสับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างการขนส่ง และตรวจสอบสินค้าประมงนำเข้าทางตู้คอนเทนเนอร์ร้อยละ 100 ณ สถานที่จัดเก็บหรือสถานประกอบการหรือห้องเย็นปลายทางว่าเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตหรือไม่

1.2 ตรวจสอบการนำเข้า การขนถ่ายสัตว์น้ำขึ้นท่าของเรือประมงต่างประเทศให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ณ ด่านตรวจประมงระนอง โดยตรวจสอบเรือประมงที่แจ้งเข้าเทียบท่าและเมื่ออนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบการนำเข้า การขนถ่ายสัตว์น้ำขึ้นท่า ณ ท่าเทียบเรือที่จดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมงตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ทั้งชนิดและปริมาณสัตว์น้ำว่าเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำจากเมียนมาที่นำเข้าทางเรือตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSM)

            2. ออกประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยกำหนดเอกสารประกอบการนำเข้าที่ชัดเจนมากขึ้น ต้องมีบัญชีรายละเอียดภาชนะบรรจุ (Packing list) ให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบสินค้าได้ถูกต้องมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำที่มาจากการทำการประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมายเข้าสู่กระบวนการตลาดและกระบวนการผลิตของประเทศไทย และกำหนดให้ระบุสถานที่จัดเก็บสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและควบคุมสินค้านำเข้า

            3. จัดทำหนังสือถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดกาญจนบุรี ขอความอนุเคราะห์ให้จังหวัดพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการนำเข้า เพื่อควบคุมสินค้าสัตว์น้ำนำเข้าที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และการค้าของประชาชนภายในประเทศ

            4. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย เพื่อกำหนดแนวทางมาตรการในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย รวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย มีการดำเนินคดีไปแล้ว จำนวน 330 คดี และกรมประมงแต่งตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ ตรวจสอบ ควบคุม ป้องกัน การลักลอบนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมายเข้าประเทศตามแนวชายแดน เพื่อประสานความร่วมมือการดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุม กำกับ ตรวจสอบ ติดตาม จับกุมผู้กระทำผิดการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรด้านการประมงผิดกฎหมายให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

            5. จัดเก็บข้อมูลสถิติการนำเข้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ผ่านระบบการขออนุญาตในระบบเชื่อมโยงคำขอกลาง และระบบสนับสนุนใบอนุญาตและใบรับรองผ่านอินเตอร์เน็ต กรมประมง (FSW) ซึ่งสามารถเรียกข้อมูลการนำเข้าในแต่ละชนิดสัตว์น้ำและมีเผยแพร่เป็นข้อมูลสถิติทางเว็บไซต์ แต่สำหรับอัตราภาษีอากรขาเข้าของสินค้าต้องกำกัดอยู่ในความรับผิดชอบของกรมศุลกากร

ทั้งนี้ยืนยันว่า ยังไม่พบการลักลอบนำเข้ากุ้ง ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ราคากุ้งภายในประเทศลดต่ำลงตามข้อห่วงกังวลของพี่น้องเกษตรกร โดยวัฏจักรราคากุ้งในประเทศไทยพบว่ามีช่วงที่ราคาตก 2 ช่วง ในรอบปี คือ ช่วงเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม และเดือนกันยายน – เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคากุ้งในตลาดโลก และกลไกตลาดตามหลักการอุปสงค์ – อุปทาน เมื่อตลาดโลกมีความต้องการสูงราคาจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อผลผลิตมีมากเกินความต้องการราคากุ้งก็จะต่ำลง และยังคงพบว่าราคาในปีนี้เริ่มลดลงในเดือนเมษายนเหมือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ราคากุ้งภายในประเทศยังมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาจำหน่ายกุ้งแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน คือ รูปแบบและช่องทางการจำหน่ายผลผลิตกุ้งของเกษตรกร โดยภาคตะวันออกและภาคกลางมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตกุ้งทะเล 2 ช่องทางหลักได้แก่ ตลาดภายในประเทศ (ตลาดหลัก) และตลาดต่างประเทศ (จำหน่ายเข้าห้องเย็นและโรงงานแปรรูป) โดยตลาดภายในประเทศมีการกระจายสินค้าไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้แก่ ลาว และกัมพูชา นอกจากนี้ ผลผลิตกุ้งที่มีคุณภาพยังนิยมจำหน่ายเป็นกุ้งมีชีวิตเพื่อส่งไปคัดขนาดก่อนกระจายไปยังตลาดภายในประเทศ และบางส่วนส่งเข้าโรงงานแปรรูป ทำให้กุ้งมีราคาค่อนข้างสูง แต่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ซึ่งมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตหลักคือ การส่งออกกุ้งแช่เย็นไปยังประเทศมาเลเซีย โดยอาจผ่านผู้รวบรวม (แพ) หลายทอด ทำให้ราคารับซื้อกุ้งจากเกษตรกรค่อนข้างต่ำ ประกอบกับประเทศมาเลเซียมีการนำเข้ากุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และอินเดียที่มีราคาต่ำจึงใช้เป็นราคาอ้างอิงในการรับซื้อกุ้งจากประเทศไทย

นายบัญชากล่าวว่า สิ่งที่กรมประมงจะดำเนินการเพิ่มเติมคือ การสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตเนื่องจากเกษตรกรยังประสบปัญหาต้นทุนการเลี้ยงสูงกว่าประเทศที่มีการผลิตกุ้งมากได้แก่ อินเดียและเอกวาดอร์ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง รวมถึงผู้ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยกรมประมงเร่งรัดนำเสนอเพื่อดำเนินการโครงการและกิจกรรมต่างๆ เช่น

  • “โครงการพลังงานทางเลือก ลดต้นทุนและสนับสนุนการผลิตกุ้งทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เป้าหมายเกษตรกรที่มีพื้นที่เลี้ยงไม่เกิน 40 ไร่ จำนวน 8,961 เพื่อสนับสนุนการติดตั้งมอเตอร์ DC brushless และ Solar cell สำหรับอุปกรณ์เติมอากาศ คนละครึ่ง โดยรัฐจะสนับสนุน 2 ชุดและเกษตรกรออกค่าใช้จ่าย 2 ชุด
  • “โครงการสนับสนุนอาหารกุ้งทะเลที่มีระดับโปรตีนที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ปี 2567/68” เพื่อสนับสนุนอาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีระดับโปรตีนเหมาะสมต่อศักยภาพการจัดการของเกษตรกร โปรตีนร้อยละ 32 และร้อยละ 35 ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่มีระบบการเลี้ยงโดยใช้จุลินทรีย์เป็นหลักในการควบคุมคุณภาพน้ำและควบคุมเชื้อก่อโรค เป้าหมายเกษตรกรที่มีพื้นที่เลี้ยงไม่เกิน 40 ไร่ จำนวน 8,961 ราย
  • “โครงการขยายฐานการผลิตจุลินทรีย์เพื่อการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล” วงเงิน 24 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการฯ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นชอบแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ
  • “โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2567” โดย Shrimp Board เสนอให้กรมการค้าภายในจัดทำโครงการฯ เพื่อเชื่อมโยงการจำหน่ายผลผลิตกุ้งทะเลในประเทศ เป้าหมายรวม 7,000 ตัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
  • “โครงการกระจายผลผลิตกุ้งทะเลคุณภาพสู่ผู้บริโภคภายในประเทศ” โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำโครงการเชื่อมโยงการจำหน่ายผลผลิตกุ้งทะเลระหว่างเกษตรกรและธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ
  • “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้งทะเลด้วยระบบป้องกันโรค ตลอดห่วงโซ่การผลิต (Shrimp Sandbox)” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคกุ้งทะเล ยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพตลอดสายการผลิตตั้งแต่ต้นทางในโรงเพาะฟักต่อเนื่องไปยังโรงอนุบาลและฟาร์มเลี้ยง ลดต้นทุนแฝง ลดการใช้ยาและปัจจัยการผลิต ผลผลิตกุ้งปลอดสารตกค้าง สร้างรายได้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีต้นทุนหมุนเวียนในการเลี้ยงกุ้งทะเลอย่างต่อเนื่อง. 512 – สำนักข่าวไทย
ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ประหารชีวิตแอมไซยาไนด์

ศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต “แอม ไซยาไนด์”

ศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต “แอม ไซยาไนด์” ส่วนอดีตสามี คุก 1 ปี 4 เดือน “ทนายพัช” คุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ชดใช้ ให้ผู้เสียหายกว่า 2 ล้านบาท

นายกฯ ถกตั้งนายพลตำรวจ 41 ตำแหน่ง ยันไม่มีการเมืองแทรก

นายกฯ ถกแต่งตั้งนายพลตำรวจ 41 ตำแหน่ง ยันไม่มีการเมืองแทรก ยึดตาม พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับใหม่ พลิกโผ ‘สยาม บุญสม’ ผงาดคุมนครบาล ‘สันติ ชัยนิรามัย’ นั่ง ผบช.ปส. ‘ไตรรงค์ ผิวพรรณ’ โยกคุมไซเบอร์ ‘ภาณุมาศ บุญญลักษม์’ ขึ้นเป็น ผบช.สตม.

ดีเอสไอพบเส้นเงินโอนจากแม่ถึงนักการเมือง ส. เกือบ 100 ล้าน

ดีเอสไอพบเส้นเงินโอนจากแม่ถึงนักการเมือง ส. เกือบ 100 ล้านบาท จำนวนนี้พบโอนจาก “บอสพอล-บอสปีเตอร์” ด้วย เร่งขยายผลมีบอสรายอื่นโอนเข้าบัญชีดังกล่าวอีกหรือไม่

ข่าวแนะนำ

“เอวา” เสือโคร่งสายแบ๊ว ดาวรุ่งดวงใหม่

หน้าตาที่น่ารักบ้องแบ๊วเหมือนแมวตัวโต ตกหัวใจคนรักสัตว์กันไปเต็มๆ สำหรับน้องเอวา เสือโคร่งสายแบ๊วของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี นอกจากหน้าตาน่ารักแล้วยังมีความสามารถหลายอย่าง จนกลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ ที่ผู้คนแห่ไปชมความน่ารักกันอย่างคึกคัก คาดจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวไปที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ต้อนรับอบอุ่น “โอปอล” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 ถึงไทย

กลับถึงไทยแล้ว “โอปอล สุชาตา” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 ปรากฏตัวในชุดไทย สวยสง่า แฟนนางงามต้อนรับอย่างอบอุ่น

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

นายกฯ โชว์วิสัยทัศน์บนเวที Forbes ดันเศรษฐกิจไทย ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์

“นายกฯ แพทองธาร” โชว์วิสัยทัศน์บนเวที Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 22 ดันเศรษฐกิจไทย ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ รับมือความท้าทาย ชูจุดเด่นไทยอยู่ตรงกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภาคการเกษตรที่เข้มแข็งดึงดูดนักลงทุน บอกกระตุ​้นเศรษฐกิจ​แจกเงินหมื่นเฟส​ 2 พุ่งเป้าเงินสะพัด ลั่น​จุดยืนไทยวางตัวเป็นทูตสันติภาพ พร้อมปรับตัวตามนโยบาย “ทรัมป์”