นครราชสีมา 18 ก.พ. – กรมอุทยานฯ ร้อง ป.ป.ช. และพนักงานสอบสวน สภ.หมูสี ให้สอบสวนผู้เกี่ยวข้องกับการออก ส.ป.ก.4-01 ภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีลักษณะเป็นขบวนการแบ่งหน้าที่กันทำ เบื้องต้นกล่าวโทษปฏิรูปที่ดินโคราช ผู้เขียนแผนที่ และผู้ตรวจเอกสารรับรองสิทธิ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า ได้รายงานต่อพล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถึงการที่คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐานเข้าแจ้งต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อให้ตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในการรังวัดและกำหนดรูปแปลงส.ป.ก. 4-01 ซึ่งปรากฏในเว็บไซต์ของสำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน (สผส.) การฝังหลักหมุด ส.ป.ก. และออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
นอกจากนี้ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ยังร้องขอให้พนักงานสอบสวนสภ. หมูสีสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยผู้ถูกกล่าวโทษคือ นายอัครเดช เรียนหิน ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาซึ่งผู้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) นายวัฒวี วิเลิศรัมย์ ผู้เขียนแผนที่ (ส.ป.ก.4-01) และนางปรียาภรณ์ เพิ่มแสงสุขกุล ผู้ตรวจเอกสารรับรองสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 และ/หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สนับสนุนให้เกิดการกระทำผิด
ทั้งนี้เป็นการดำเนินการหลังจากที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาตินำคณะเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ เข้าตรวจสอบพื้นที่ในหมู่บ้านเหวปลากั้ง ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาซึ่งตรวจพบการบุกรุกแผ้วถางที่ดิน โดยผู้บุกรุกอ้างเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 และพบการฝังหลักหมุดส.ป.ก.4-01 จำนวนมากภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับถนนป่าไม้ลำลองซึ่งเป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติ มีสภาพป่าดิบแล้งอุดมสมบูรณ์และพบร่องรอยการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าเช่น เก้ง ช้าง กระทิง เป็นต้น
คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันรื้อถอนหลักหมุดเขตส.ป.ก. ที่ตรวจพบทั้งสิ้น 27 หมุด เสาหลักเขต 5 ต้น รื้อถอนต้นมะม่วงที่ปลูกเพื่อยึดครองพื้นที่ 20 ต้น และรื้อถอนป้ายประกาศที่แสดงการได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน 1 ป้าย
จากนั้นจัดทำบันทึกการตรวจสอบ/ตรวจยึดเพิ่มเติมเพื่อแจ้งความกล่าวโทษผู้กระทำผิดและร้องขอให้พนักงานสอบสวนสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการออกส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าว
คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ เห็นว่า พฤติการณ์ของผู้กระทำผิดเป็นการกระทำเป็นขบวนการสนับสนุนเกี่ยวข้องกันและมีการแบ่งหน้าที่กันเพื่อออกเอกสารส.ป.ก. 4-01 โดยมิชอบในเขตป่าอนุรักษ์ โดยพบว่า มีออกเอกสารส.ป.ก. 4-01 ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่รวม 972-2-79 ไร่ และมีการทับซ้อนในพื้นที่ป่าไม้ตามพ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 อีก 486-1-74 ไร่
สำหรับการตรวจสอบพบการออกเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ซึ่งทับซ้อนเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ออกตระเวนเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 พบการบุกรุกพื้นที่และปรับสภาพโดยใช้เครื่องจักร บริเวณนี้ติดถนนแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวมถึงพบป้ายแสดงเอกสารส.ป.ก.4-01 พื้นที่บุกรุก 3-3-93 ไร่ แต่ไม่พบบุคคลใดในที่เกิดเหตุจึงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ. หมูสี ต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 พบการไถปรับพื้นที่และดันต้นไม้ออก ในที่ดินแปลงเดิม โดยจับกุมนายสหรัฐ ทศกระโทกกับพวกรวม 2 คน รถแทรกเตอร์ 2 คัน พร้อมอุปกรณ์หยอดข้าวโพดและอุปกรณ์พรวนดิน นำส่งสภ.หมูสีดำเนินคดี
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา (ส.ป.ก. นครราชสีมา) ออกประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา กรณีเฉพาะราย เรื่อง ผลการคัดเลือกและอนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา (ประเภทแปลงเกษตรกรรม) มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน หากผู้ใดประสงค์คัดค้านให้ยื่นคำร้องที่ส.ป.ก. นครราชสีมา ภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป โดยในหมู่ที่ 10 บ้านเหวปลากั้ง ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่รวมประมาณ 73-0-37 ไร่ ปรากฏรายชื่อรวม 3 ราย 3 แปลง ปรากฏชื่อ ได้แก่
(1) น.ส.กมลรัตน์ คำชมภู (นายอดิลักษณ์ เผ่าจันทึก) เนื้อที่ 20 ไร่
(2) นางเพียงตะวัน เผ่าจันทึก เนื้อที่ 38-0-37 ไร่
(3) นายพนวรรฒห์ ศิริธนธิปชัยกูร (นางนิตยา สังเกตุกิจ) เนื้อที่ 15 ไร่
ทั้งนี้ส.ป.ก. นครราชสีมาแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ตำบลหมูสีปิดประกาศผลการคัดเลือกและอนุญาตฯ นายกิติศักดิ์ พรหมพินิจ ผู้ใหญ่บ้านบ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 ส่งหนังสือถึงนายอัครเดช เรียนหิน ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาเพื่อขอทราบตำแหน่งแปลงที่ดินและรูปแปลงของทั้ง 3 ราย ตามที่ออกประกาศเนื่องจากรายชื่อตามบัญชีดังกล่าวไม่ใช่ราษฎรในพื้นที่ของตน โดยวันที่ 18 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส.ป.ก. นครราชสีมา กำนันตำบลหมูสี ผู้ใหญ่บ้านบ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 ร่วมกันตรวจสอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พบว่า มีการปักหมุดส.ป.ก. เข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติ 5 หมุด ระยะทางประมาณ 300 เมตร
ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2566 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทำหนังสือขอให้ส.ป.ก. นครราชสีมารื้อถอนหลักหมุดทั้ง 5 หมุดออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ จากนั้นวันที่ 31 ตุลาคม 2566 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทำหนังสือคัดค้านการปักหลักหมุด ส.ป.ก. ในเขตอุทยานแห่งชาติตามประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา
ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตรวจยึดพื้นที่บุกรุก เนื้อที่ประมาณ 1-2-80 ไร่ซึ่งมีการปักหลักหมุดส.ป.ก. เข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติ 5 หมุด ระยะทางยาวประมาณ 300 เมตร โดยไม่พบบุคคลใดในที่เกิดเหตุ แจ้งความไว้ที่สภ. หมูสี
ส.ป.ก. นครราชสีมาออกประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เรื่อง ผลการคัดเลือกและอนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา (ประเภทแปลงเกษตรกรรม) ในพื้นที่หมู่ 10 บ้านเหวปลากั้งอีกครั้งใน 23 พฤศจิกายน 2566 เนื้อที่รวมประมาณ 72-2-27 ไร่ ปรากฏรายชื่อรวม 5 ราย 5 แปลงได้แก่
(1) น.ส.กมลรัตน์ คำชมภู เนื้อที่ 20-0-11 ไร่
(2) นางเพียงตะวัน เผ่าจันทึก เนื้อที่ 11-0-6 ไร่
(3) นายพนวรรท์ ศิริธนธิป (นิตยา สังเกตุกิจ) เนื้อที่ 15-0-49 ไร่
(4) นายกฤษณะ เล้งวิลาศ เนื้อที่ 10-3-56 ไร่
(5) นายศศิไกรวี กุลจิราช (นางสุกมรัตน์ กุลจิราช) เนื้อที่ 15-2-05 ไร่
จากนั้นวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ส.ป.ก. นครราชสีมาแจ้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ว่า จากการตรวจสอบค่าพิกัดทั้ง 5 หมุดตามที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทำหนังสือให้รื้อถอนหลักหมุด พบว่า แปลงที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และอำเภอปากช่องให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2534 โดยแปลงที่ดินตั้งอยู่ในโครงการที่จำแนกฯ ป่าเขาใหญ่
ในวันที่ 23 มกราคม 2567 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ พร้อมด้วยนายสมฤกษ์ ศุภมิตรกฤษณา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สบอ. 1) (ปราจีนบุรี) นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และนายกิติศักดิ์ พรหมพินิจ ผู้ใหญ่บ้านบ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบริเวณพื้นที่ที่พบการบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่ที่มีการฝังหลักหมุดและออกเอกสาร ส.ป.ก. 4-0 1 ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยผู้ใหญ่บ้านบ้านยืนยันว่า รายชื่อตามบัญชีคัดเลือกเกษตรกรให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งส.ป.ก. นครราชสีมาได้ออกประกาศ 2 ครั้งคือ ครั้งที่ 1 ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2566 จำนวน 3 ราย และครั้งที่ 2 ช่วงเดือนธันวาคม 2566 จำนวน 5 ราย ไม่ใช่ราษฎรที่อยู่ในพื้นที่
ทั้งนี้ผู้ใหญ่บ้านได้รับหนังสือ ส.ป.ก. นครราชสีมา แจ้งให้ปิดประกาศผลการคัดเลือกและอนุญาตฯ มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน ปรากฏรายชื่อรวม 3 ราย 3 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 73-0-37 ไร่ แต่ตนเองไม่ทราบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งใดจึงได้ส่งหนังสือถึงนายอัครเดช เรียนหิน ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาเพื่อขอทราบตำแหน่งแปลงที่ดินและรูปแปลงของทั้ง 3 ราย ตลอดจนประสานกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงทำให้ทราบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ส่วนการที่มีการออกเอกสารส.ป.ก.4-01 ให้แก่นายพนวรรฒท์ ศิริธนธิปชัยกูรนั้น ไม่ทราบและไม่เคยเข้าร่วมสำรวจพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ของส.ป.ก. นครราชสีมา รวมถึงไม่ได้ลงลายมือชื่อเพื่อรับรองหรือยืนยันรายชื่อเกษตรกรหรือรับรองพื้นที่แต่อย่างใด จาการตรวจสอบย้อนหลังยังพบว่า ส.ป.ก. นครราชสีมาออกเอกสารส.ป.ก.4-01 ให้แก่นายพนวรรฒห์ ศิริธนธิปชัยกูร อยู่บ้านเลขที่ 57 หมู่ที่ 5 ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 โดยที่อุทยานแห่งชาติและผู้ใหญ่บ้านไม่ทราบอีกด้วย
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่รายงานต่ออธิบดีกรมอุทยานฯ ถึงเหตุการณ์บุกรุกพื้นที่ ฝังหลักหมุด และออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ในท้องที่บ้านเหวปลากั้ง โดยระบุว่า แนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะมีแนวถนนตรวจการณ์เป็นแนวยาวชัดเจน ราษฎรในพื้นที่ทราบดีว่า เป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณพื้นที่ที่พบหลักหมุดส.ป.ก. ฝังอยู่ 10 หมุดโดยขนานตามแนวถนนตรวจการณ์ ถนนดังกล่าวเป็นแนวเขตของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สภาพพื้นที่โดยส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าดิบแล้งที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ และมีบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่เหมาะสำหรับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างป่า เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าที่ไม่รกทึบจนเกินไป ไม่พบร่องรอยการใช้ประโยชน์ของมนุษย์
สำหรับพื้นที่ที่ถูกบุกรุกซึ่งนายพนวรรฒท์ ศิริธนธิปชัยกูรอ้างว่า มีเอกสารสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าว ตามเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 แปลงเลขที่ 9 ระวาง ส.ป.ก. ที่ 5238ll5008 นั้น พบมีการติดป้ายบริเวณทางเข้าแปลงข้อความว่า “ประกาศ ที่ดินแปลงนี้มีเกษตรกรได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามระเบียบ พระราชกฤษฎีกา พระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรถูกต้องตามกฎหมาย ห้าม ผู้ใดเข้ามาคุกคามสิทธิโดยเด็ดขาด” พร้อมแสดงภาพเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ที่ได้รับการอนุญาตจากปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา มีการปรับสภาพพื้นที่ด้วยการไถและดันต้นไม้ออกเพื่อเปิดพื้นที่ทำการเกษตร มีการปลูกต้นมะม่วง 20 ต้น ลักษณะต้นมะม่วงที่พบเป็นต้นไม้ที่เกิดจากกิ่งชำในกระถาง คาดว่า ซื้อมาจากร้านขายต้นไม้ เนื่องจากที่ตุ้มดินมีขุยมะพร้าวหุ้มอยู่และเขียนชนิดพันธุ์ของต้นมะม่วงไว้ที่ไม้ปักหลักของแต่ละต้น นอกจากนี้ยังพบกองมูลและร่องรอยการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าเช่น ช้าง กระทิง เก้ง เป็นต้น
บริเวณท้ายแปลง พบหลักหมุด ส.ป.ก. 2 หมุด ระยะห่างประมาณ 6 เมตร เมื่อเล็งแนวเขตกลับไปยังหมุดส.ป.ก. บริเวณที่ขนานกับถนนตรวจการณ์ ทำให้คาดการณ์ได้ว่า อาจเป็นการแบ่งแถวเพื่อทำถนนลงในพื้นที่ พร้อมสั่งการให้แจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าของแปลงเพิ่มเติมในความผิดตามพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในการทำไม้เนื่องจากมีการดันไม้ป่าในพื้นที่ล้มลงเป็นจำนวนมาก รวมถึงตรวจนับไม้ป่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่เพื่อเป็นข้อมูลไว้ด้วย
จากเหตุดังกล่าว ทำให้ในวันที่ 24 มกราคม 2567 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในพื้นที่คดีตรวจยึดจับกุมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ต่อนายพนวรรฒท์ ศิริธนธิปชัยกูรกับพวกรวม 5 คน ฐานความผิดตาม มาตรา 19 (2) และ 19 (6) พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และฐานความผิดตามมาตรา 11 69 และ 73 วรรค 2(1) พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 เนื่องจากในพื้นที่ปรากฏพบการกานต้นไม้ ถูกไถดัน ตัดทอน พบไม้กระถิ่นป่า 23 ท่อนและไม้สีเสียดแก่น 5 ท่อน ปริมาตรไม้รวม 2.289 ลบ.ม.
การตรวจสอบพบการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และการออกเอกสารส.ป.ก. 4-01 ภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงนำมาสู่การแจ้งความกล่าวโทษผู้บุกรุก รวมถึงการขอให้สอบสวนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่กรณีออกเอกสารส.ป.ก. 4-01 ภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องที่สนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดต่อพนักงานสอบสวนและต่อป.ป.ช.- 512 – สำนักข่าวไทย