ศาลาว่าการ กทม. 17 ส.ค.-“ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม. หารือสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ถก 10 ข้อเสนอจัดการปัญหาขยะ กำหนดมาตรฐานรีไซเคิล ผุดไอเดียแอปฯ เรียกซาเล้งเก็บขยะตามบ้าน นำขยะกำพร้าผลิตเชื้อเพลิง
ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เมื่อเวลา 13.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เพื่อหารือแนวทางการจัดการขยะในเมือง
นายชัชชาติ กล่าวว่า ธุรกิจซาเล้งและรับซื้อของเก่าเป็นการช่วยลดขยะที่เข้าสู่กระบวนการเก็บของ กทม. การมีอยู่ของซาเล้งและรับซื้อของเก่าก็จะเป็นประโยชน์กับการดูแลขยะของเมือง แต่ที่ผ่านมาพบปัญหาว่าร้านรับซื้อของเก่าอาจมีปัญหาที่ตั้งร้านไม่สอดคล้องกับผังเมือง ทางสมาคมจึงยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เช่น การขึ้นทะเบียนซาเล้งให้มีประวัติและถูกกฎหมาย การช่วยอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ เปิดโอกาสให้ซาเล้งมีการฝึกอบรม กำหนดการรีไซเคิลให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น เพื่อไม่ให้เสียเวลาคัดแยก ซึ่งอาจจะทำเป็นแอปพลิเคชันให้แต่ละบ้านเรียกซาเล้งเข้าไปเก็บขยะ จะทำให้การเข้าไปรับซื้อขยะง่ายมากขึ้น
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวต่อว่า นอกจากขยะรีไซเคิลยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องขยะกำพร้า ซึ่งเป็นขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิล อาจจะนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงหรือจะต้องดูว่านำไปกำจัดอย่างไร และอาจจัดให้มีวิชารีไซเคิลในโรงเรียนสังกัด กทม.
นอกจากนี้ กทม.จะนำร่องการแยกขยะเปียก ขยะแห้ง และมีช่องแยกเก็บเศษอาหารโดยเฉพาะในเส้นทางที่มีร้านอาหารจำนวนมาก นำร่องที่เขตพญาไท เขตปทุมวัน และเขตหนองแขม เริ่ม 4 กันยายน 65 และขยายผลทั่วทั้งเขต
ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่าข้อจำกัดด้านผังเมืองจะต้องดูให้สอดคล้องตามหลัก พื้นที่ทำร้านรับซื้อของเก่าต้องไม่เกิน 100 ตารางเมตร จะต้องดูข้อจำกัดตรงนี้อาจจะต้องไปดูว่ามีความเหมาะสมอย่างไร หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่ หากร้านรับซื้อของเก่าอยู่ไกล ซาเล้งต้องวิ่งหา การมีร้านรับซื้อของเก่าที่ถูกกฎหมายก็ยังมีความจำเป็น เพื่อกระจายรับซื้อจากซาเล้ง ให้นำไปสู่การรีไซเคิลต่อไป ธุรกิจนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการดูแลขยะของเมือง ทำให้กระบวนการรีไซเคิลสมบูรณ์แบบ ถือเป็นหนึ่งในวงจรในการกำจัดขยะของเมืองด้วย
นายชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าวว่า ตามหลักกฎหมายกำหนดให้ร้านรับซื้อของเก่าต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าเล็กมาก จึงมองว่าการแก้ไขที่ดีต้องเริ่มจากจุดเริ่มต้น ด้วยการให้มีการประกวดร้านค้ารับซื้อของเก่า จัดให้มีการลงทะเบียนที่สำนักงานเขต โดยการประกวด ร้านรับซื้อของเก่า ต้องไม่วางขยะบนทางเท้า ทำรั้วให้สวยงาม ไม่สร้างความรำคาญ ควรสนับสนุน อาจตั้งกรอบเวลา 2 ปี หากทำตามข้อกำหนดได้ อาจทำเป็นฟรีโซนพิเศษ ขยายพื้นที่จาก 100 ตารางเมตร เป็น 200-300 ตารางเมตร ให้สามารถบริหารจัดการได้ ขณะที่การใช้เครื่องอัดขยะขนาด 10 แรงม้า ควรอนุโลมให้สามารถใช้ได้ ซึ่งหากไม่มีเครื่องอัดจะทำให้การจัดการขยะยากมาก ซึ่งหากอนุโลมข้อนี้ได้ ก็จะทำให้ธุรกิจรับซื้อของเก่าเดินต่อได้ ซึ่งจะเป็นจุดรับขยะจากซาเล้งแล้วส่งต่อ ทำให้ชุมชนระบายขยะได้มากขึ้น
ขณะที่การจัดการขยะกำพร้า ซึ่งเป็นขยะที่มีการบริโภคแล้วไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งหากทิ้งไม่ถูกวิธีจะไปอุดตันตามท่อระบายน้ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.รับฝากจะนำเข้าสู่กระบวนการเผาให้เป็นเชื้อเพลิงอาดีเอฟ.-สำนักข่าวไทย