กรุงเทพฯ 9 ส.ค.-ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือGITเผยงานวิจัยเด่น วิเคราะห์แหล่งกำเนิดพลอยด้วย AI ด้วยฐานข้อมูลขั้นสูงพัฒนางานวิจัยสู่ระดับโลกช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศสูงมาก ชี้สร้างความก้าวหน้าให้กับวงการตรวจสอบอัญมณีไทยเทียบชั้นระดับนานาชาติ
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า การสร้างนวัตกรรมด้านการตรวจสอบอัญมณี โดยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบ และการผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นการยกระดับงานวิจัยให้เหนือกว่า และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับวงการอัญมณีโลก โดยการใช้ระบบ AI (Artificial Intelligence) มาช่วยในการตัดสินว่าอัญมณีที่ทำการตรวจสอบนั้นมาจากประเทศใด แหล่งใด อันเป็นการเสริมความมั่นใจให้กับผู้ครอบครองอัญมณีและเพิ่มมูลค่าให้กับวงการอัญมณีและเครื่องประดับ ที่มีความนิยมการเลือกซื้อ เลือกใช้อัญมณีเฉพาะแหล่ง ซึ่งการทำงานวิจัยครั้งนี้
นอกจากจะเป็นการรวบรวมข้อมูลอัญมณีจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ซึ่งจะต้องทำการรวบรวมข้อมูลจากตัวอย่างจำนวนมาก ทำให้ยิ่งเกิดความแม่นยำในการวิเคราะห์แหล่งกำเนิดของอัญมณีนั้นๆ และเทียบได้กับการใช้ประสบการณ์และความสามารถของอัญมณีศาสตร์ที่ต้องสั่งสมมาเป็นระยะเวลานานหลายๆปี และมีความแม่นยำทำให้เกิดการซื้อขายอย่างมั่นใจ และได้อัญมณีจากแหล่งกำเนิดที่ต้องการโดยคาดว่าในอนาคตการใช้ระบบ AI จะเป็นระบบหลักที่เทียบเคียงกับการใช้นักอัญมณีศาสตร์ที่มีประสบการณ์หลายปี ช่วยทดแทนการขาดแคลนนักอัญมณีศาสตร์และลดระยะเวลาในการตรวจวิเคราะห์อัญมณีแต่ละเม็ดได้อย่างมาก
อย่างไรก็ตาม สถาบันฯ GIT ได้นำเสนอผลงานวิจัยระดับโลกดังกล่าวในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 จัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยเฉพาะในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ทางหัวหน้าโครงการวิจัย นายชเนนทร์กันต์ จักรวาลวิบูลย์ ร่วมกับ ดร.ภูวดลวรรธนะชัยแสง ที่ปรึกษาโครงการวิจัยดังกล่าวจะได้บรรยายถึงผลสำเร็จระดับโลกดังกล่าวอีกด้วย และสถาบันฯ ยังได้นำเสนอผลงานวิจัย และบรรยายในหัวข้อต่างๆ อีกเช่น การจัดทำตัวอย่างมาตรฐานโลหะเงินชุบทองคำสำหรับการวิเคราะห์ความหนางานชุบพื้นผิวโลหะมีค่าเพื่ออุตสาหกรรมเครื่องประดับไทย โดย ดร.มณฑิรา เสนีวงศ์ ณ อยุธยาหัวหน้าโครงการวิจัย สังกัด GIT ที่จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่งกับวงการส่งออกเครื่องประดับที่เน้นเรื่องความแม่นยำในการชุบผิวตามความหนาที่กำหนด
นอกจากนี้ การสำรวจและวิเคราะห์การตลาดเครื่องประดับดิจิทัล: ทิศทางและแนวโน้มตลาดดิจิทัลอัญมณีไทยสู่สากลอันเป็นแนวโน้มสำคัญด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการทำธุรกิจจากรูปแบบปกติ เข้าสู่การทำตลาดผ่านระบบดิจิทัล ที่เป็นการเปลี่ยนเข้าสู่ New S-Curve ของระบบธุรกิจสมัยใหม่ของโลก การพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการและมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสร้างความมั่นใจในการซื้อขายในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ที่จะสร้างให้มาตรฐานของห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี โลหะมีค่า และเครื่องประดับ มาตรฐานบุคคลากรห้องปฏิบัติการ มาตรฐานการตรวจสอบอัญมณี และโลหะมีค่า ให้เข้าสู่ระบบที่มีการยอมรับอันเป็นแนวโน้มใหม่ของอุตสาหกรรมอัญมณี โลหะมีค่าและเครื่องประดับ ซึ่งรองผู้อำนวยการ GIT นายทนง ลีลาวัฒนสุข จะได้ให้ข้อมูลเรื่อง การพัฒนามาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นใจในการซื้อขายในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ
“ในฐานะผู้นำเรือธงของสถาบันฯ ชี้ให้เห็นว่า ด้วยบุคลากรที่มีความสามารถระดับสูงของสถาบันฯ และทิศทางของการพัฒนาด้วยการทำการวิจัยอย่างไม่หยุดยั้ง จะทำให้อุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับของไทยสามารถรักษาระดับการยอมรับในระดับนานาชาติ และสร้างรายได้ทั้งในระดับมหภาค และจุลภาคของระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืน ติดตามข่าวสารด้านการวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติได้ที่ช่องทางออนไลน์http://www.git.or.th “นายสุเมธ กล่าว.-สำนักข่าวไทย