นนทบุรี 9 พ.ค. – ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT (จีไอที) เดินหน้าพัฒนาบุคคลกร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าหมายการส่งออกโต 5-10%
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กล่าวว่า แม้ภาพรวม มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ จะลดลง 0.28% แต่ยังเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 มีสัดส่วน 5.80% ของสินค้าส่งออกไทย รวมทั้งถ้าหักการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป พบว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริง ยังโตต่อเนื่อง 13.36% มีมูลค่าการส่งออกกว่า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ เกือบ 1 แสนล้านบาท ท่ามกลางปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่หากดูภาพรวมในตลาดโลก แบรนด์ลักชูรี่ แบรนด์เนมต่าง ๆ ยังไปได้ดี รวมทั้งสินค้าอัญมณี ยังไม่เคยราคาตก ทั้งพลอย ทับทิม โดยเฉพาะทองคำและเงิน ในรอบ 20 ปีที่แล้ว โต 400-500%
ทั้งนี้ หากเทียบเพียง 5 ปีก่อนหน้า ราคาก็ปรับขึ้นไปแล้วกว่า 60% สะท้อนมูลค่าการลงทุน และสภาพคล่องในตลาดที่มีมูลค่าสูง แต่จากคนในซัพพลายเชนที่เคยสูงหลักล้านคน ปัจจุบันเหลือประมาณ 8 แสนคน และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ 80% จะอยู่ในกลุ่มผู้ซื้อ-ผู้ขาย มีเพียง 20% ที่เป็นช่างฝีมือ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ ที่จะต้องผลักดันให้คนรุ่นใหม่ หันมาสนใจเข้าทำงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น โดยเฉพาะช่างฝีมือทักษะสูง โดย GIT ได้เป็นตัวกลางในการประสานกับภาครัฐ กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สร้างมาตรฐานกลางด้านอัญมณี ซึ่งผู้ที่เข้าอบรมเมื่อผ่านหลักสูตร ก็จะได้รับ ”คุณวุฒิวิชาชีพ“ อัญมณีและเครื่องประดับ เช่น เป็นนักอัญมณี นักวิเคราะห์อัญมณี หรือ ผู้จัดการร้านทอง รวมไปถึงการสร้างศูนย์ฝึกช่าง และร่วมกับสถาบันการศึกษา พัฒนาหลักสูตรเฉพาะในการสร้างนักอัญมณี
นอกจากนี้ ยังมีโครงการออกแบบเครื่องประดับระดับโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบเครื่องประดับใหม่ๆ และสร้างแหล่งกระตุ้นให้เยาวชน และนักออกแบบไทย ได้แลกเปลี่ยนเทรนกับนักออกแบบต่างชาติ ขณะเดียวกัน ยังมีการลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพช่างฝีมือในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้มีเป้าหมายที่ภาคกลาง และภาคเหนือ เพื่อจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้ความรู้แก่ช่างฝีมือ เน้นการสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ชู ซอฟต์พาวเวอร์ พัฒนาเป็นชิ้นงานอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสร้างมูลค่าสู่สากล ซึ่งจะนำไปโชว์ในงานแฟร์ต่างๆ โดยเฉพาะงานบางกอกเจมส์แอนด์เจเวอรี่แฟร์ ที่ได้รับการตอบรับจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุกปี สามารถสร้างการรับรู้ไปถึงผู้ซื้อในต่างประเทศ และเป้าหมายสำคัญคือการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเอกลักษณ์ของชิ้นงาน โดยที่ผู้ซื้อไม่คำนึงถึงค่าของอัญมณีเท่านั้น จะผลักดันมูลค่าการส่งออกให้เติบโตได้แบบก้าวกระโดด สำหรับปีนี้ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ โตไม่ต่ำกว่า 5-10% จากปี 2566 มีมูลค่า 14,636 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหดตัว 2.83% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญ คือ การยกระดับมาตรฐานการตรวจรับรอง ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายใต้ GIT Standard โดย GIT ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างประเทศผู้สร้างมาตรฐานการการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน หรือ อาร์เจซี RJC ( Responsible Jewellery Council ) เพื่อสร้างความมั่นใจในตลาดโลก ทั้งเรื่องการใช้แรงงาน ซึ่งปัจจุบัน RJC เตรียมขยายไปถึงมาตรฐาน ไปทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม การคำนวณคาร์บอนฟุตปริ๊น เพื่อบอกที่มาที่ไปของสินค้า คาดว่า ภายใน 2 ปีข้างหน้า จะใช้มาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับในส่วนนี้ ซึ่งหากไทย มีมาตรฐานนี้ ก็จะสามารถอยู่ในซัพพลายเชนอัญมณีและเครื่องประดับของโลกได้ ผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างยั่งยืนเป็นต้น.-514-สำนักข่าวไทย