กรุงเทพฯ 30 ส.ค.- ผลการประกวดออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับระดับนานาชาติ ซึ่งไทย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีกับการประกวด (จีไอที) GIT World’s Jewelry Design Awards ปี 2023 นี้ ได้รับการตอบรับจากนักออกแบบทั้งไทยและต่างชาติ ส่งผลงานเข้าประกวด มากกว่า 700 ผลงาน โดยรางวัลชนะเลิศ เป็นของนักออกแบบไทย
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT (จีไอที) จัดขึ้นต่อเนื่องปีที่ 17 ภายใต้แนวคิด “Glitter & Gold – The Brilliant Way of Gold Shine” (กลิตเตอร์ แอนด์ โกลด์ – เดอะ บริลเลี่ยนท. เวย์ อ๊อฟ โกลด์ ไชน์ ) หรือ เครื่องประดับที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสีทองอร่ามกับประกายระยิบระยับของอัญมณีหลากชนิดซึ่งในรอบสุดท้าย เหลือแบบวาดที่มีคะแนนสูงสุด 4 แบบวาด จากที่ผ่านการพิจารณาในรอบแรก 30 ผลงาน โดยได้นำไปผลิตเป็นเครื่องประดับ มาแสดงให้ชม ผ่านนางแบบ ในรอบชิงชนะเลิศวันนี้ (30 ส.ค.) ซึ่งมีเงินรางวัลรวมกว่า 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อม โล่รางวัล พระราชทาน จากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และภายในงาน ยังได้จัดแสดงผลงานการออกแบบที่เข้ารอบทั้ง 30 ผลงานด้วย
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการสถาบัน GIT มอบเงินรางวัล ให้กับผู้ชนะการประกวด GIT World’s Jewelry Design Awards 2023 ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นของนักออกแบบชาวไทย คุณสิริชัย บุญประเทือง กับผลงานชื่อ “ช่วงเวลาดั่งท่องมนต์สะกด” นำเสนอแสงสีทองยามเช้า ประกายระยิบระยับจากอัญมณีหลากสี รับเงินรางวัล 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นของนักออกแบบชาวไทยเช่นกัน จากผลงานชื่อ ไลน์ (Line) นำเสนอเฉดสีทอง รูปทรงเลขาคณิต ทรงสามเหลี่ยม รับเงิน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นของ นักออกแบบชาวจีน กับผลงานชื่อ ไทม์ (TIME) นำเสนอเพชรสีเหลืองสะท้อนร่องรอยของเวลา ของ รับเงินรางวัล 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนรางวัลชมเชย เป็นของนักออกแบบชาวบาเรน ผลงานชื่อ โวเคโน่ อิรับชั่น (Valcano eruption) นำเสนอทองคำ18k เป็นตัวแทนลาวา บนภูเขาไฟที่ปะทุตอนกลางคืน ได้รับเงินรางวัล 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยปีนี้ มีรางวัล GIT Popular Design Award ได้แก่ ผลงานชื่อใบตอง ของนักออกแบบชาวไทย ด้วยคะแนนโหวต322,322 คะแนน จากผู้ร่วมโหวตทั่วทุกมุมโลก กว่า 600,000 คะแนน ได้รับเงินรางวัล 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันจีไอที (GIT) บอกว่า เป็นโอกาสสำคัญให้ทั่วโลก ได้เห็นถึงศักยภาพของนักออกแบบไทย และยังได้เห็นถึงเทรนด์ในการออกแบบ จากทั่วทุกมุมโลกที่น่าสนใจ สามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางสำหรับนักออกแบบได้ด้วย ซึ่งปีนี้ มีนักออกแบบต่างชาติ ส่งชิ้นงานเข้าร่วมประกวดมากถึง 497 ชิ้นงาน จาก30 ประเทศ และจากไทย 273 ชิ้นงาน เป็นเวทีในการพัฒนาฝีมือนักออกแบบสู่มาตรฐานระดับโลก สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย และเปลี่ยนประเทศไทย จากประเทศผู้รับจ้างผลิต เป็นประเทศที่สามารถสร้างแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ตอกย้ำการเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
สำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสินค้าส่งออก อันดับที่ 3 มีสัดส่วน 5.21% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทย โดยในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ( เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 ) แม้ยังหดตัว 15.52% แต่หักทองคำไม่ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริง มีมูลค่ากว่า 4,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.01% เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย