กรุงเทพฯ 7 ส.ค.- อธิบดีกรมชลประทานสั่งโครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันที่อาจเกิดขึ้นจากฝนตกหนักตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาระหว่างวันที่ 7-9 ส.ค. นี้ ย้ำให้บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมจัดเครื่องจักร-เครื่องมือ รวมทั้งเจ้าหน้าที่เข้าเตรียมพร้อมรับสถานการณ์กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศแจ้งเตือนเป็นฉบับที่ 4 เรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากเนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม โดยมีผลกระทบตั้งแต่วันนี้ (7 ส.ค.) – 9 ส.ค.
สำหรับจังหวัดที่คาดว่า จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาประกอบด้วย
– วันที่ 7 ส.ค. มีดังนี้
ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคกลางได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต
-วันที่ 8 ส.ค. มีดังนี้
ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลางได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
-วันที่ 9 ส.ค. มีดังนี้
ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลางได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดระนอง และพังงา
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงการเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก หากมีฝนตกหนักหรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็วเครื่องจักร เครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชาชนเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ ตลอดจนสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย