รัฐสภา4 ก.ค.-“วัชระ-วิลาศ” ยื่นหนังสือค้านตรวจรับงานโครงการก่อสร้างรัฐสภา ทั้งที่ยังมีจุดบกพร่องหลายร้อยแห่ง ย้ำหากดื้อรับงานเตรียมเจอร้อง ป.ป.ช.แน่
นายวัชระ เพชรทอง นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านงานสารบรรณถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นายปรีชา ชวลิตธำรง ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ เรื่อง ขอคัดค้านการตรวจรับงานแล้วเสร็จ 100% ของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ ของคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ฉบับที่ 1
นายวัชระกล่าวว่า นับแต่วันที่ 30 เม.ย. 56 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ลงนามสัญญาเลขที่ 116/2556 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จำนวน 12,280 ล้านบาท กำหนดเวลาแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค. 63 ซึ่งจนถึงวันนี้คือวันที่ 4 ก.ค. 65 รวมระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 3,353 วัน แต่ยังก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญานั้น จึงขอคัดค้านคณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับงานแล้วเสร็จโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่า การก่อสร้างดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จครบถ้วนตามข้อกำหนดในสัญญา
“ยังปรากฏโดยมีหลักฐานอย่างชัดเจนว่า มีการใช้ชนิดของวัสดุไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาและไม่ตรงตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของผู้ออกแบบ เช่น 1. ต้นไม้ในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ ยังไม่สามารถดำเนินการข้อกำหนดในสัญญาอย่างครบถ้วน มีต้นไม้จำนวนมากตายจนถูกตัดเหลือแต่ตอ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการฟื้นตัวและอยู่รอดของต้นไม้ได้ เพราะต้นไม้เหล่านั้นได้ตายไปก่อนการตรวจสอบ ส่งผลถึงระยะเวลา 240 วันของข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว ที่มีเพื่อตรวจการฟื้นตัวและการอยู่รอดของต้นไม้ จึงยังไม่เริ่มนับ เพราะไม่มีต้นไม้ที่อยู่รอดให้นับระยะเวลาเหล่านั้น อันส่งผลให้ถือว่าการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ” นายวัชระ กล่าว
นายวัชระ กล่าวว่า 2. มีการใช้ไม้ปูพื้น ไม้ตงและไม้ที่ใช้ในการตบแต่งของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ ไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาฯ และไม่ตรงตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของผู้ออกแบบ เนื่องจากไม้เหล่านั้น ต้องใช้ไม้ “ชนิดตะเคียนทอง” แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการใช้ไม้ “ชนิดพะยอม” และไม้ชนิดอื่นมาปะปนในการปูพื้นทำตงและตกแต่ง รวมทั้งมีการจ่ายเงินอันมาจากงบประมาณแผ่นดินไปในราคาของ “ไม้ชนิดตะเคียนทอง” ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทางราชการ
นายวัชระ กล่าวว่า 3. ถือว่างานไม้ทั้งหมดของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ ยังไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการตรวจการจ้างมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องตรวจสอบและทดสอบคุณภาพของงานทั้งหมดให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญาฯ หากปราศจากข้อบกพร่อง จึงเห็นชอบงานแล้วเสร็จ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงคือใช้ไม้พะยอมแทนชนิดไม้ตะเคียนทอง” ซึ่งไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาฯ หรือไม่ และเมื่อยังไม่มีการตรวจสอบไม้ทั้งหมด จึงถือว่าคณะกรรมการตรวจการจ้าง ยังมิได้ตรวจสอบและทดสอบว่า งานไม้ทั้งหมดมีการใช้ “ไม้ชนิดตะเคียนทอง” ตามข้อกำหนดในสัญญาฯ จึงถือว่า คณะกรรมการตรวจการจ้าง ยังไม่สามารถตรวจรับงานแล้วเสร็จทั้งหมดของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ ได้
“ถ้าคณะกรรมการตรวจการจ้างยอมรับว่างานไม้ทั้งหมดของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ เป็นไม้ “ชนิดตะเคียนทอง” ถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญาฯ จึงถือว่าเป็นการตรวจสอบที่เป็นเท็จ เนื่องจากยังไม่ได้ตรวจสอบ “ชนิด” ของไม้ทั้งหมด ซึ่งถ้าคณะกรรมการตรวจการจ้างจงใจที่จะตรวจรับงานแล้วเสร็จทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ปรากฏอย่างชัดแจ้งตามตัวอย่างข้างต้นว่างานยังไม่แล้วเสร็จ ย่อมมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีโทษไล่ออกและมีความผิดทางอาญา ตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย หากมิได้ยับยั้งการกระทำความผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาก็อาจได้รับผลร้ายไปด้วย บัดนี้ ระยะเวลาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ล่วงเลยกำหนดเวลางานแล้วเสร็จตามสัญญาดังกล่าวข้างต้นมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64-4 ก.ค. 65 จำนวน 550 วัน งานก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100%” นายวัชระ กล่าว
ด้านนายวิลาศ กล่าวว่า สำหรับจุดบกพร่องต่าง ๆ ของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ได้ขอให้ประธานกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ แจ้งกรรมการตรวจการจ้างฯ บริษัทที่ปรึกษา บริษัทผู้ควบคุมงาน และเชิญชมรม Strong สผ. องค์กรพอเพียงต้านทุจริต ในฐานะผู้สังเกตการณ์ร่วมกันเดินตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จทุกจุด เพื่อสร้างความโปร่งใสอันเป็นประโยชน์สาธารณะและลดข้อสงสัยของสาธารณชน ดังนี้ 1. พื้นไม้และพื้นไม้ตงอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ คือ ใช้ไม้ผิดประเภทจากข้อกำหนดต้องใช้ไม้ตะเคียนทองแต่ใช้ไม้พะยอมหรือไม้ชนิดอื่น ๆ แทน และแผ่นไม้ปูพื้นต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 3 เมตร ยกเว้นกรณีจำเป็น
“2. ร่องไม้ตะเคียนทองที่ใช้ปูพื้นอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ คือ ต้องมีร่องห่างไม่เกิน 2 มิลลิเมตร 3. ประตูห้องกรรมาธิการไม่กันเสียง 65 ห้อง ผนังห้องประชุมกรรมาธิการไม่กันเสียง 148 ห้อง และหินทราโวทีนมีขนาดต่ำกว่าข้อกำหนด 4. ต้นไม้ขนาดใหญ่ตาย 347 ต้น และไม่มีการปลูกทดแทน รวมทั้งต้นไม้ขนาดเล็กตายเป็นจำนวนมาก 5. อุปกรณ์ห้องน้ำชายและหญิง ชำรุดใช้งานไม่ได้จำนวนหลายร้อยห้อง 6. ระบบเสียงภายในห้องประชุมสุริยัน มีปัญหาด้านกายภาพและการรับฟังที่ไม่ชัดเจน” นายวิลาศ กล่าว
นายวิลาศ กล่าวว่า 7. เมื่อมีฝนตกจะเกิดเหตุน้ำรั่ว น้ำหยด น้ำซึมและน้ำท่วมทุกครั้งทั่วอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทรัพย์สินของทางราชการชำรุดเสียหาย เช่น เอกสาร พรมปูพื้น ลิฟต์โดยสาร ฝ้าเพดาน เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อสำนักงานฯ มีต้นทุนเป็นค่าแรง O.T. แม่บ้านทำความสะอาดจากน้ำรั่วน้ำซึมน้ำท่วมขัง 8. จุดเสี่ยงจากข้อตรวจพบของสมาคมผู้ตรวจสอบอาคารและบริหารความปลอดภัยอาคารหรือ ตปอ. ผลการตรวจสอบไม่ผ่านมาตรฐานถึง 198 จุด อนึ่ง หากคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ รับมอบงานแล้วเสร็จในวันนี้ วันพรุ่งนี้ตนจะยื่นเรื่องคณะกรรมการ ป.ป.ช. สอบสวนบุคคลที่ลงมติเห็นชอบทุกคนต่อไปโดยไม่ละเว้น
นายวัชระได้ส่งหนังสือถึงนายสาธิตและกรรมการตรวจการจ้างทุกคนในห้อง cb303 โดยนายสาธิตให้นายอุทัย อินทสมบัติ เลขานุการเป็นผู้รับหนังสือ พร้อมกันนี้ยังได้นำสื่อมวลชนเดินชี้จุดที่เป็นปัญหาต่าง ๆ ด้วย.-สำนักข่าวไทย