ทำเนียบรัฐบาล 30 มิ.ย.-นายกฯ ชื่นชมทุกภาคส่วนในเชียงใหม่ร่วมกันสร้างความเข้มแข็ง ถือเป็นจังหวัดต้นแบบศูนย์กลางความก้าวหน้า เชื่อมั่นศักยภาพคนไทยพร้อมปรับตัวไปกับโลกที่เปลี่ยนแปลง ปลื้มเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์รัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่องการลงพื้นที่เพื่อติดตามงานที่จังหวัดเชียงใหม่ วานนี้ (29 มิ.ย.) ว่า เป็นโอกาสดีอีกครั้งในการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการทำงานตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งนอกจากจะได้รับทราบความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ แล้ว ยังสัมผัสได้ถึงความเป็นมืออาชีพ ความมุ่งมั่น และร่วมแรงร่วมใจกันของทุกภาคส่วน ที่บูรณาการกันสร้างความเข้มแข็งในทุก ๆ กิจกรรม ทุกระดับอย่างน่าชื่นชม
“ยกตัวอย่างเช่น 1. โครงการชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร โดยสถานีตำรวจภูธรสารภี ซึ่งสร้างกลไกและระบบการทำงานสำคัญๆ ได้แก่ (1) เน้นการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของชุมชน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ประชาชน ภาคประชาสังคม รวมทั้งสถานประกอบการ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (2) มุ่งการปราบปรามเชิงรุก ลดความต้องการในพื้นที่ โดยค้นหาผู้เสพรายเก่านำเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูและป้องกันผู้เสพรายใหม่ (3) ส่งเสริมกระบวนการชุมชนบำบัด ให้ความสำคัญกับการคืนคนดีสู่สังคม และ (4) มีการประเมินผล มีตัวชี้วัดชัดเจน เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ซึ่งผมเห็นว่าหากสามารถความเข้มแข็งในระดับตำบลทุกแห่งได้ ประเทศชาติก็จะเข้มแข็ง ปลอดภัยจากยาเสพติดได้ในภาพรวม ในที่สุด” นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า 2. การยกระดับระบบการบริหารและบริการสาธารณะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ของเทศบาลเมืองแม่เหียะ ที่ได้รับการรับรองเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (Maehia Municipality to Smart City) จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ซึ่งประกอบด้วย (1) การพัฒนาแพลตฟอร์มระบบข้อมูลเมือง (City Data Platform) เตรียมเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) สำหรับการบริหารงานเมืองและให้บริการประชาชน (2) การสร้างกลไกการพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) และต้นแบบธุรกิจที่เอื้อต่อการลงทุนเชิงพื้นที่ เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ (3) การพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี Blockchain ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม โปร่งใส และลดความเหลื่อมล้ำของคนในชุมชน และ (4) การสร้างแพลตฟอร์มการพัฒนาเมืองน่าอยู่ และศูนย์บริการเป็นเลิศเทศบาลแนวใหม่ เช่น เปิดช่องทางร้องเรียน อนุมัติ อนุญาต แบบออนไลน์ ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 24 ชั่วโมง เป็นต้น โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือและความเข้มแข็งของคนในพื้นที่ ซึ่งเห็นว่าสามารถเป็นโมเดลการพัฒนาเมืองให้กับท้องถิ่นอื่นๆ ของไทยได้เป็นอย่างดี
“สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนนั้น มีแนวโน้มการขยายตัวของเมืองอีกมาก โดยปัญหาในอนาคตที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สนับสนุนทุกกิจกรรมในพื้นที่ ทั้งน้ำกิน-น้ำใช้ ทั้งภาคเกษตรกรรม-อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว โดยครั้งนี้ ผมได้ติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญๆ ที่คาดว่าจะเสริมศักยภาพของเมืองได้ ในอนาคตได้อีก 20 ปีข้างหน้า ได้แก่ (1) อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด สำหรับเติมน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เฉลี่ย 113 ล้าน ลบ.ม./ปี (2) อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง สำหรับเติมน้ำให้เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เฉลี่ย 47 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยภาพรวมทั้ง 2 โครงการ มีความคืบหน้ากว่า 68% เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพพื้นที่ชลประทาน 175,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกช่วงฤดูแล้ง จาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ ตลอดจนมีระบบโทรมาตรและระบบเตือนภัยน้ำท่วม/น้ำหลากล่วงหน้าอีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายการลงทุนเพื่ออนาคตของรัฐบาล ที่มุ่งสนับสนุนการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคของประเทศ” นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน FTI Expo 2022 – Shaping the Future Industry ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมระดมพลัง เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมีหลักการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในหลายเรื่อง ได้แก่ (1) การมุ่งสร้างอุตสาหกรรมไทย ให้เป็น Smart Industry โดยเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่รัฐบาลกำหนด (2) การยกระดับธุรกิจ สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน ตามแนวทางการพัฒนา BCG Model ที่รัฐบาลส่งเสริมและผลักดันในเวทีระดับโลก (3) การส่งเสริมสินค้าไทย ภายใต้สัญลักษณ์ “Made in Thailand” และ (4) การยึดแนวคิด “การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน” (ESG) ในการดำเนินธุรกิจ ที่ไม่ละเลยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งเห็นว่าหากทุกภาคส่วนมีวิสัยทัศน์ที่ตรงกัน ก็จะยิ่งทำให้เกิดพลังในการทำงานทุกระดับ
“สิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งในครั้งนี้ได้ติดตามการเสริมสร้างศักยภาพกำลังคนด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการสร้างความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองในอนาคต โดยได้ไปเยี่ยมชมการดำเนินกิจการของโรงเรียนวัดเวฬุวัน (สารภีชนานุกูล) ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่อง ที่จะพัฒนาไปสู่ “ศูนย์การเรียนรู้” แห่งศตวรรษที่ 21 โดยเน้นทักษะดิจิทัล ด้าน Coding, STEM, IoT และ AI รวมทั้ง Metaverse เป็นการสร้างรากฐานของสังคมไทย ให้พร้อมเติบโตไปสู่ “สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล” ในที่สุด ปัจจุบันมีการผนึกกำลังพันธมิตรภาคการศึกษา สามารถพัฒนาครู 4,700 คน และมีนักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกว่า 387,000 คน” นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จากความก้าวหน้าของโครงการต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นเมื่อวานนี้ ทำให้รู้สึกยินดีและเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยว่ามีความพร้อมที่จะปรับตัวและเปลี่ยนผ่านท่ามกลาง “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก” ได้เป็นอย่างดี เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลได้วางไว้ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดต้นแบบศูนย์กลางความก้าวหน้าในส่วนภูมิภาค ที่มีศักยภาพสูง ทั้งบุคลากร ต้นทุนทางวัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยว พร้อมที่จะพลิกโฉมเป็นเมืองอัจฉริยะ ฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดและภูมิภาครับการเปิดประเทศได้อย่างแน่นอน.-สำนักข่าวไทย