กรุงเทพฯ 29 มี.ค.-หลังจากที่ประชุม ครม.เห็นชอบปรับแก้หลักเกณฑ์เมาแล้วขับใหม่ เฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี หากมีปริมาณแอกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเมาสุราแล้วขับ ทำไมต้องคุมปริมาณแอลกอฮอล์ในวัยรุ่นให้แตกต่าง และความรุนแรงจากฤทธิ์แอลกอฮอล์จะแตกต่างจากคนปกติอย่างไร ติดตามจากรายงาน
อุบัติเหตุบนท้องถนนคร่าชีวิตของผู้คนนับไม่ถ้วน สาเหตุหนึ่งมาจากเมาสุราแล้วขับขี่ ข้อมูลศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนระบุว่า เทศกาลปีใหม่ 2560 มีผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บจากเมาแล้วขับมากถึง 2,800 คน และในจำนวนนี้ 1,807 คน เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่เมาแล้วขับ การนำมาตรทางกฎหมายเข้ามาควบคุมแก้ไขจึงเกิดขึ้น
ข้อมูลทางวิชาการชี้ว่า การตอบสนองของระดับแอลกอฮอล์ในเลือดระหว่างผู้ใหญ่วัยแรงงานกับเด็กวัยรุ่นแตกต่างกัน เด็ก วัยรุ่น ร่างกายตอบสนองต่อฤทธิ์แอกอฮอล์ได้เร็วกว่าวัยแรงงาน ทำให้ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ การตัดสินใจเปราะบาง ยิ่งขาดประสบการณ์บนท้องถนน ยิ่งง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุ
หากเปรียบเทียบปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของวัยแรงงาน ที่กำหนดห้ามเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะพบว่ามีความหลากหลาย และร่างกายมีความทนต่อฤทธิ์เครื่องดื่มแอลกฮอล์ แต่ในวัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปี เพียงแค่เบียร์ไลท์ 2 กระป๋อง ก็ทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกำหนด เนื่องจากกฎหมายต้องการป้องปราม และสร้างวินัยในขับขี่ เช่นเดียวกับ 30 ประเทศทั่วโลก ที่ระบุให้นักขับหน้าใหม่ต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดต่ำหรือเป็นศูนย์
สอดคล้องกับความเห็นของคุณตาสนั่น ที่ต้องสูญเสียน้องอิงฟ้าจากเมาแล้วขับ ระบุว่า เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมปริมาณในเลือดให้ต่ำลง ช่วยให้คนขับขี่มีสติเพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลของกองบังคับการตำรวจจราจรที่ระบุว่า พบเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ก่ออุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์และเมาแล้วขับจำนวนมาก ซึ่งหากกฎหมายสามารถบังคับใช้ได้ คาดว่าจะลดอุบัติเหตุในหมู่วัยรุ่นได้ถึงร้อยละ 20.-สำนักข่าวไทย