กรุงเทพฯ 28 มิ.ย. – อธิบดีกรมการข้าวยืนยันงบปี 66 จำนวน15,000 ล้าน มุ่งยกระดับศูนย์ข้าวชุมชน เชื่อมั่น ลดต้นทุน เพิ่มรายได้และผลผลิตให้ชาวนา ด้านประธานศูนย์ข้าวชุมชนในจ. นครราชสีมาหนุนเดินหน้าโครงการ ชี้ช่วยสร้างความยั่งยืนให้ชาวนา สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง นำไปสู่การลดงบประมาณช่วยหลือชาวนาในประเทศ
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าวเปิดเผยว่า งบประมาณพ.ศ.2566 นี้กรมการข้าวได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลผ่าน “โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว” เป็นจำนวนเงิน 15,000 ล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าทุกครั้งที่กรมการข้าวได้รับการจัดสรรค์งบประมาณ สำหรับสาเหตุที่กรมการข้าวได้รับการจัดสรรค์งบประมาณที่เพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายการช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าว คือ นโยบายสร้างความยั่งยืนของการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนสนับสนุนค่าต้นทุนการผลิตข้าวและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.60 ล้านครัวเรือน พื้นที่ประมาณ 62 ล้านไร่ ใช้งบประมาณปีละประมาณ 54,000 ล้านบาท (โดยไม่รวมงบประมาณโครงการหรือนโยบายการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวหลักของรัฐเช่น ประกันรายได้เกษตรกร และมาตรการคู่ขนานอื่นๆ) ซึ่งค่าลดต้นทุนและค่าเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รัฐจะจ่ายเงินสนับสนุนให้กับเกษตรกรโดยตรงผ่าน ธ.ก.ส. โดยไม่ต้องมีการติดตามว่าเกษตรกรจะนำไปใช้จ่ายที่ตรงเป้าหมายที่รัฐกำหนดหรือไม่ จึงทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของนโยบายวินัยการเงินและการคลังของประเทศไทย ที่จะต้องเพิ่มงบประมาณในการลงทุน (งบครุภัณฑ์) ของประเทศไทย เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดตั้งงบลงทุนต่ำ แต่เมื่อรัฐบาลต้องการสร้างความยั่งยืนและให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความเข้มแข็งในอนาคต รัฐบาลจึงปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยเป็นการสนับสนุนค่าต้นทุนการผลิตข้าวและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่
สำหรับโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีเป้าหมายในการสนับสนุนงบประมาณไปยังศูนย์ข้าวชุมชน 5,000 ศูนย์ ทั่วประเทศ โดยโครงการจะกำหนดการสนับสนุนงบประมาณตามศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก (ตามแผนการปฏิบัติงานที่จะดำเนินการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว) และพิจารณาตามพื้นที่ทำนาปลูกข้าวในเขตการให้บริการของศูนย์ข้าวชุมชนคือ พื้นที่ให้บริการต่ำกว่า 2,000 ไร่ จะสนับสนุน 1 ล้านบาท พื้นที่ให้บริการมากกว่า 2,000 ไร่ จะสนับสนุน 2 ล้านบาท พื้นที่ให้บริการมากกว่า 4,000 ไร่ จะสนับสนุน 3 ล้านบาท และพื้นที่ให้บริการมากกว่า 6,000 ไร่จะสนับสนุน 4 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร และค่าซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร โดยจะกำหนดกรอบกว้างๆ ให้เกษตรกรทราบเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการเกษตรกรอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีคณะกรรมการระดับต่างๆ ไปพิจารณาให้ตรงกับศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรจริง
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะทำให้กลุ่มเกษตรกรและศูนย์ข้าวชุมชนมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาการผลิตข้าวของประเทศและจะเกิดผลประโยชน์ทางตรงซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ต้นทุนการผลิตต่อไร่ลดลงร้อยละ 5 ต่อปี เกษตรกรรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 (รายได้สุทธิเพิ่มขึ้นบาท/ไร่ หรือ บาท/กิโลกรัม) ต่อปี อีกทั้งเกษตรกร 4.60 ล้านครัวเรือน จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ที่สำคัญผลประโยชน์สุทธิที่ได้รับจากโครงการ 30,318 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบลงทุนภาครัฐ 15,260 ล้านบาท ได้ผลประโยชน์สูงถึง 15,058 ล้านบาท นอกจากนั้นประเทศไทยจะสามารถใช้จ่ายงบประมาณด้านงบลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ลดภาระ ตลอดจนประเทศสามารถลดงบประมาณในการช่วยหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวในอนาคตได้เป็นจำนวนมาก
นายจารึก กมลอินทร์ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าเยี่ยม ต.บ้านท่าเยี่ยม อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา กล่าวถึงโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว วงเงิน 15,000 ล้านบาท ของกรมการข้าว เพื่อสนับสนุนงบประมาณให้กับศูนย์ข้าวชุมชน 5,000 ศูนย์ ทั่วประเทศว่า เห็นด้วยกับกรมการข้าว ที่จัดโครงการฯ นี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นการวางแผนระยะยาวให้กับเกษตรกรชาวนา เพราะที่ผ่านมาแม้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ยังไม่มีความยั่งยืน ทั้งนี้ การยึดศูนย์ข้าวชุมชนเป็นโมเดลต้นแบบ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกร และมีการบริหารจัดการกลุ่มด้วยตนเอง หากภาครัฐเข้ามาสนับสนุเพิ่มเติม จะยิ่งสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวนา ที่สำคัญสามารถพึ่งพาตนเองได้
นอกจากนี้ ยังช่วยบริหารจัดการปัญหาข้าวล้นตลาด ข้าวไม่มีคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ารายเดี่ยว เพราะมีการวางแผนการผลิต การตลาด โดยการเชื่อมโยงกับโรงสีข้าว เช่น ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าเยี่ยมที่ตนเป็นประธานอยู่ มีโรงสีเข้ามาติดต่อโดยตรงอยากให้ศูนย์ผลิตข้าวพันธุ์ที่ต้องการ เพื่อการส่งออกของโรงสี เพราะมองว่าถ้ารับผลผลิตจากเกษตรรายเดี่ยว จะไม่สามารถควบคุมคุณภาพ และแผนการผลิตได้ตามเป้าที่วางไว้
นายจารึกกล่าวต่อว่า กรมการข้าวคิดถูกที่จัดโครงการนี้ขึ้นมาซึ่งเป็นการวางแผนระยะยาว และเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวนา ซึ่งจะเป็นทางรอดมากกว่าและสามารถยืนได้ด้วยตัวเขาเอง ถ้าเป็นเช่นนี้ ศูนย์ข้าวชุมชนก็เปรียบเสมือนผู้ประกอบการรายหนึ่ง ที่มีอำนาจต่อรองเรื่องราคา เพราะโรงสีก็จะเดินเข้ามาหาเราเอง เราไม่ต้องวิ่งไปขายข้าวสดให้กับโรงสี สามารถชะลอการขายข้าวไว้ในยุ้งฉาง เพราะเรามีตลาดรองรับที่แน่นอน เพราะเราผลิตตามออเดอร์ที่ตลาดต้องการ ทำให้ลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ซึ่งสอดรับกับนโยบายตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย หากเราไม่เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ปัญหาเดิมๆ ก็จะวนเวียนกลับมา ภาครัฐก็ต้องหางบมาช่วยพยุงเกษตรกรชาวนา ซึ่งปีหนึ่งต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้าน และไม่เกิดความยั่งยืน
สานิตย์ จิตต์นุพงศ์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลกกล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางของกรมการข้าวที่จะยกระดับ “ศูนย์ข้าวชุมชน” ให้เป็นศูนย์บูรณาการการผลิตข้าวคุณภาพดีและเป็นศูนย์บ่มเพาะของทุกสาขาอาชีพการทำนาเช่น อาชีพรับจ้างเพาะกล้า หยอดข้าว บินโดรนฉีดพ่น เกี่ยวข้าว เนื่องจากปัจจุบันการทำนา ไม่ได้มีระบบลงแขกแบบโบราณแล้ว แต่เป็นระบบการผลิตที่มีการจ้างงานต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวบรวมผลผลิตข้าวเพื่อส่งมอบให้โรงสีคู่ค้า แนวทางดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้ชาวนายืนด้วยตัวเองได้ซึ่งจะทำให้ลดงบประมาณแผ่นดินที่จะนำมาช่วยเหลือในแนวทางที่ไม่ยั่งยืนดังที่ผ่านๆ มา.-สำนักข่าวไทย