นนทบุรี 29 มี.ค.-จังหวัดนนทบุรีแม้ว่าจะมีชื่อเสียงเรื่องทุเรียน แต่ปัญหาน้ำท่วมทำให้ชาวบ้านหลายรายปรับเปลี่ยนไปปลูกผลไม้อื่นแทน หนึ่งในนั้นคือส้มโอ เนื่องจากให้ผลผลิตดี และดูแลง่าย
บนพื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน ของป้าศรียงค์ วิมลสรกิจ หมอดินอาสาประจำตำบลอ้อมเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทุบรี เคยประสบน้ำท่วมเมื่อปี 2554 แต่ได้ฟื้นฟูสวนส้มโอด้วยเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน และการใช้เกษตรอินทรีย์ จนกระทั่งให้ผลผลิตคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด
เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นสวนทุเรียนมาก่อน แต่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก ทำให้ทุเรียนยืนต้นตายทั้งสวน ป้าศรียงค์จึงได้เปลี่ยนมาปลูกส้มโอแทนในพื้นที่ 5 ไร่ ความห่างต้นละ 3-4 เมตร ทำให้ปลูกได้ไร่ละ 45 ต้น ทั้งพันธุ์ขาวใหญ่ ขาวใหญ่ไร้เมล็ด ทองดี ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม อย่างขาวพวง ทับทิมสยาม และขาวจีบ ซึ่งผลส้มโอสามารถเก็บไว้บนต้นหรือตัดเก็บไว้ได้เป็นเดือน ไม่จำเป็นต้องเร่งขายเหมือนผลไม้ชนิดอื่นที่จะต้องรีบขายเพราะผลไม้สุก
ป้าศรียงค์บอกว่าตอนมาทำสวนใหม่ๆ ขณะนั้นไม่ได้มีความรู้เรื่องการเกษตร จึงได้ไปอบรมกับเกษตรคิวเซที่ จ.สระบุรี ศึกษาการทำปุ๋ยหมักโดยใช้ EM และผลิตน้ำหมักขับไล่แมลง เมื่อปี 2545 ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่อีก จึงได้เร่งระบายน้ำออก และเริ่มปลูกรักษาต้นส้มโออีกครั้ง และเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดแทนการใช้สารเคมี ผลิตปุ๋ยหมักใช้เองภายในสวน เป็นการบำรุงดินให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หลังจากเกิดน้ำท่วม
นอกจากนี้ยังได้เก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ ซึ่งยังมีความเป็นกรด จึงต้องปรับสภาพดินโดยใช้หินฟอสเฟต รวมทั้งการใช้โดโลไมท์ปรับปรุงสภาพดินให้กับทางสวนตามหลักวิชาการอย่างถูกวิธี ทำให้ต้นส้มโอเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ออกผลผลิตได้ทั้งปี แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน จะออกผลผลิตเยอะ โดยส้มโอจะขายจากสวนลูกละ 80-120 บาท แต่ถ้าไปออกขายตามงานจะขายลูกละ 160-180 บาท ทำรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 300,000 บาท
จุดเด่นของส้มโอที่นี่คือปลอดสารเคมี มีเครื่องหมายมาตรฐานอาหารปลอดภัย GAP โดยส้มโอเมืองนนทบุรี กำลังจะมีอนาคตที่สดใส เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะแคนาดาและไต้หวัน และให้ผลตลอดปี สวนแห่งนี้ยังได้นำเปลือกส้มโอมาแปรรูปเป็นส้มโออบแห้ง จนได้ชื่อว่าเป็นเปลือกส้มโอเลิศรส และถือเป็นเจ้าแรกของนนทบุรีอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย