กำชับพัฒนาคุณภาพชีวิตปชช.ตอนเหนือ

แม่ฮ่องสอน 13 มิ.ย.-“พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่ ตามแก้ปัญหาน้ำ ที่ดิน ไฟป้า PM 2.5 กำชับเร่งช่วยเหลือปชช.เร็ว พัฒนาคุณภาพชีวิตให้พึ่งพาตนเองได้ ลดเหลื่อมล้ำตามนโยบายรัฐบาล


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและคณะปฏิบัติราชการในพื้นที่ภาคเหนือที่จ.แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ ติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาน้ำ ที่ดินทำกินเกษตรกร ไฟป่า PM 2.5 โดยมีนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจัวหวัดแม่ฮ่องสอนและข้าราชการร่วมให้การต้อนรับ โดยรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และผลการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำปัจจุบัน จำนวน 7.6 ล้านลบ.ม.คิดเป็น ร้อยละ56.37 ซึ่งดีกว่าปีที่ผ่านมา และเพียงพอต่อความต้องการในปี2565 ส่วนเป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะมีราษฎรได้รับการจัดสรรที่ดินคทช. ครอบคลุม 7อำเภอ จำนวน 21,615คน และผลการป้องกันไฟป่าปี 2565 พบว่ามีจุดความร้อนลดลง 6,731 จุด คิดเป็นร้อยละ 56.35 ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยในปีนี้ จุดความร้อนสะสมเกิดขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 6ปี และสำหรับค่าPM 2.5 ปี 2565 บรรลุเกินเป้าหมาย (ค่าเกินมาตรฐาน37วันจากที่กำหนด39วัน)


พล.อ.ประวิตร  กล่าวชื่นชมการทำงานและมอบนโยบายสำคัญ โดยเน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัดและทุกส่วนราชการเร่งบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือประชาชน อย่างทันท่วงที ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้พึ่งพาตนเองได้ พร้อมสร้างการรับรู้ประชาชน ให้ทั่วถึงด้วย

จากนั้น พล.อ.ประวิตรและคณะเดินทางไป สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรือที่อยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 5 แห่งให้แก่ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน ในฐานะประธานอนุกรรมการนโยบายที่ดินจ.แม่ฮ่องสอน และมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล(คทช.) ให้กับตัวแทนชุมชนจำนวน 4 คน โดยพล.อ.ประวิตรฯ มอบนโยบาย กำชับคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดิน จ.แม่ฮ่องสอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ไฟฟ้าและเส้นทางคมนาคม พร้อมทั้งให้นำแนวทางสหกรณ์ มาใช้บริหารจัดการในพื้นที่คทช.ให้มีความต่อเนื่อง

พล.อ.ประวิตรและคณะเดินทางไปศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เยี่ยมชมกิจกรรมฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ และพบปะประชาชน ก่อนเดินทางต่อไปยังจ.เชียงใหม่เพื่อปฏิบัติภารกิจต่อไป


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยชาวบ้านตลอดแนวโครงการเพิ่มปริมาณต้นทุนน้ำเขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันแม่น้ำยวมตั้งแต่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดสร้างเขื่อนและปากอุโมงค์ผันน้ำ ไปจนถึงชาวบ้านอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะมีอุโมงค์ยักษ์ขุดเจาะผ่าน ชาวบ้านอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นปากอุโมงค์ผันน้ำได้นัดกันแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากพล.อ.ประวิตรในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ผ่านความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) โครงการดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าเป็น EIA ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและแอบอ้างชื่อชาวบ้าน

ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประวิตร ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่ชาวบ้านสบเมยยื่นหนังสือผ่านนายอำเภอสบเมย และชาวบ้านอำเภอฮอด ได้ยื่นหนังสือผ่านนายอำเภอฮอด ขณะที่ชาวบ้านอมก๋อยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนจัดกิจกรรมแสดงจุดยืนไม่ให้นำดินจากโครงการขุดเจาะอุโมงค์ผันแม่น้ำยวมมากองทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ทั้งนี้ หนังสือระบุว่าสืบเนื่องจากที่กรมชลประทานผลักดันโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) ได้ EIA โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้จัดทำตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งรายงานดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของคณะผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม(คชก.) โดยสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในเดือนกรกฎาคม 2564  ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นักวิชาการ และประชาชน ที่ได้ส่งเอกสารทักท้วงมาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี

หนังสือระบุว่า เดือนกันยายนปีเดียวกัน รายงานEIA กลับได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยที่หน่วยงานเจ้าของโครงการ และหน่วยงานตรวจสอบ มิได้มีการอธิบายข้อกังวลของประชาชนอย่างเพียงพอ ต่อมากรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ ทำโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ผลการศึกษาเบื้องต้นที่มีการจัดเวทีที่เปิดเผยต่อสาธารณะล่าสุดระบุว่ามูลค่าการลงทุนของโครงการสูงถึง 172,220 ล้านบาท

หนังสือระบุว่า เครือข่ายประชาชนฯ ได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้นับตั้งแต่เสนอโครงการ ระหว่างการจัดทำรายงาน EIA โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ส่งหนังสือร้องเรียนหลายฉบับอย่างต่อเนื่องถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน คณะผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของโครงการ และข้อบกพร่องหลายประการของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่มีล่ามแปลภาษาท้องถิ่นให้ชาวบ้านเข้าใจได้ การถ่ายภาพกับชาวบ้านและระบุว่ามีการสัมภาษณ์เชิงลึกทั้งที่ไม่มีการสัมภาษณ์แต่อย่างใด  ดังนั้น พวกเราชาวบ้านในฐานะผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการมองเห็นความไม่ชอบธรรม ความไม่โปร่งใส ความไม่น่าเชื่อถือต่อกระบวนการพัฒนาโครงการและการจัดทำ EIA

หนังสือระบุเหตุผลที่คัดค้านว่า 1. ความไม่จำเป็นของการดำเนินโครงการนี้ ที่ที่ต้องการจะใช้ทรัพยากรน้ำจากลุ่มน้ำยวม สาละวิน ไปแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำปิง-เจ้าพระยา ซึ่งการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำควรใช้ทรัพยากรน้ำจากลุ่มน้ำนั้น ๆ 2. โครงการนี้จะมีมูลค่าการลงทุนที่สูงมาก และอาจจะต้องใช้งบประมาณของรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน ซึ่งไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากผลประโยชน์ด้านการเกษตรและชลประทานที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาะเศรษฐกิจฝืดเคืองจากสภาวะการระบาดของโรคโควิด19 ต่อเนื่อง อาจเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์สาธารณะและจะเป็นการสร้างภาระหนี้ระยะยาวให้กับประเทศ

3. ชาวบ้านชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง (ชาติพันธุ์กระเหรี่ยง) ที่มีภูมิลำเนาในป่ารอบต่อ 3 จังหวัด อยู่ในเขตพื้นที่ป่า มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากป่าเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและรายได้ ชุมชนได้ช่วยกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์มาตลอดหลายชั่วอายุคน แต่โครงการนี้จะทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียทั้งที่ดิน บ้านเรือน ที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ พื้นที่ป่าไม้ ป่าต้นน้ำ ลำห้วย และแม่น้ำ ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนของเรา ซึ่งหากเกิดผลกระทบจากโครงการนี้ ระบบนิเวศเปราะบางและทรัพยากรธรรมชาจชติจะไม่อาจฟื้นฟูกลับมาให้เป็นดังเดิมได้

“พวกเราเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ตลอดแนวพื้นที่โครงการ ทั้งเขื่อน สถานีสูบน้ำ แนวอุโมงค์ส่งน้ำ ปากอุโมงค์ส่งน้ำ จุดทิ้งกองดิน และแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จำนวนอย่างน้อย 46 หมู่บ้าน ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อ.สบเมย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบลหลายแห่งในพื้นที่ดังกล่าว จึงขอแสดงจุดยืนว่า พวกเราไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการเดินหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล-แนวผันน้ำยวม  ขอให้ท่านโปรดพิจารณาความคิดเห็นและข้อกังวลใจของพวกเราต่อโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเป็นการฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง”หนังสือระบุ.-สำนักข่าวไทย 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง