กรุงเทพฯ 6 มิ.ย.- จับตา กทม.หารือมหาดไทย สางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว เผยแนวทาง “ชัชชาติ” พร้อมโอนคืนส่วนต่อขยายให้ รฟม. ช่วย กทม.ไม่ต้องรับภาระหนี้กว่า 60,000 ล้านบาท สนับสนุนโมเดลโครงข่ายรถไฟฟ้าเจ้าของเดียว “One Owner” ภายใต้กำกับกระทรวงคมนาคม ผลักดันราคาเหมาะสม เดินทางเชื่อมต่อมีประสิทธิภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกำหนดการวันนี้ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีกำหนดการจะเข้าพบหารือกับพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีหลายประเด็น ซึ่งเป็นวาระที่จะหารือร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ได้รับการจับตา ทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาระหนี้มหาศาล ประเด็นการต่อขยายสัมปทาน ในส่วนของสัมปทานของบีทีเอสเดิม (หมอชิต-อ่อนนุช) ที่สัมปทานจะหมดลงในปี 2572 รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายนี้ ที่หลายฝ่ายต้องการเห็นการปรับลดราคาให้ถูกลงเกิดประโยชน์กับผู้ใช้บริการมากที่สุด
ทั้งนี้ ตามแนวคิดของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะโอนโครงสร้างพื้นฐานส่วนต่อขยายสายสีเขียวทั้งด้านเหนือและด้านใต้ คืนให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. หลังจากรัฐบาลได้เคยมีนโยบายให้ รฟม. โอนโครงการส่วนต่อขยายนี้ให้ กทม. เมื่อปี 2562
โดยนายชัชชาติ เห็นว่าการโอนคืนส่วนต่อขยายแก่ รฟม. จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่า เช่น กทม. ก็ไม่ต้องรับภาระหนี้การก่อสร้างของ รฟม. และภาระหนี้อื่น ๆ กว่า 60,000 ล้านบาท ส่วนภาระหนี้ค่าจ้างบีทีเอส เดินรถนั้น นายชัชชาติยืนยันว่าจะต้องเข้าไปตรวจสอบข้อกฎหมาย หลังก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคม เคยระบุข้อมูลว่าการจ้างบีทีเอสเดินรถนั้น ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของสภา กทม.ในอดีต และเรื่องนี้คงต้องฟังความเห็นของสภา กทม.ชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้งพร้อมกับผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา
ที่สำคัญ การโอนโครงการส่วนต่อขยายกลับไปให้ รฟม. ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงคมนาคม ก็จะทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้าทุกระบบ มีสถานะมีเจ้าของและผู้บริหารจัดการคนเดียว หรือ “One Owner” ซึ่งในอนาคตรัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายทั้งในเรื่องของราคาค่าโดยสาร “ราคาเดียวทุกโครงข่าย” หรือปรับลดค่าโดยสารให้ถูกลงเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น
โดยการโอนทรัพย์สินให้ รฟม. อาจครอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐานและระบบเดินรถไฟฟ้าสัมปทานเดิมของบีทีเอส หลังสัมปทานหมดลงในปี 2572 โดยเมื่อ รฟม. นำโครงการกลับไปบริหารก็สามารถแบ่งส่วนแบ่งรายได้จากการบริหารการเดินรถ คืนให้แก่ กทม. ปีละ 500-1,000 ล้านบาท เพื่อให้ กทม. นำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาระบบรถเมล์โดยสาร และระบบขนส่งต่อเชื่อม หรือ feeder เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้เดินทางใน กทม.
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่า ในการรับโอนคืนส่วนต่อขยายสายสีเขียวจาก กทม. รวมทั้งสัมปทานเดิมหลังปี 2572 นั้น หากจะดำเนินการตามนโยบายของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ จะต้องดำเนินการผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และสภา กทม. แต่ที่สำคัญโดยเฉพาะในส่วนของการรับโอนคืนส่วนต่อขยายนั้น ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญใน 2 เรื่อง 1. การรับโอนโครงสร้างพื้นฐานคืนในขณะที่ปัจจุบัน ระบบเดินรถเป็นของบีทีเอส การมีแต่โครงสร้างพื้นฐาน กลับมาก็ไม่สามารถเดินรถได้ หากจะเจรจาเพื่อขอซื้อระบบเดินรถจากบีทีเอส ก็คาดว่าต้องใช้เวลา และต้องพิจารณาต่อว่าจะทำยังไงไม่ให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบ 2. ประเด็นภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด มีกับบีทีเอส อีกประมาณ 30,000 ล้านบาท ในส่วนนี้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร
“หากจะไปดำเนินการแก้ปัญหาส่วนนี้อาจจะมีทางออกที่สามารถทำได้ แต่ก็ถือว่าค่อนข้างสุดขั้ว แต่ก็ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชน (บีทีเอส) ในฐานะคู่สัมปทาน จากกันด้วยดี โดยภาครัฐอาจเจรจาขอซื้อสัมปทานคืนก่อนที่จะหมดปี 2572 โดยพิจารณาจากรายได้ค่าตอบแทนที่เอกชนจะมีในแต่ละปี ใน 7 ปีข้างหน้า และซื้อรวมไปถึงระบบเดินรถส่วนต่อขยายด้วย” ผู้ว่าการ รฟม. กล่าว
ส่วนการที่ รฟม. จะรับโอนโครงการสัมปทานเดิม (หมอชิต-อ่อนนุช) มาจาก รฟม. ด้วยนั้น แนวทางนี้รัฐบาลคงต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือสนับสนุน เนื่องจากจะเป็น “บิ๊กดีล” ที่มีมูลค่าสูง หากจะประเมินมูลค่าของโครงข่ายรถไฟฟ้าสัมปทานเดิมที่ขณะนี้มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก โดยตัวเลขมูลค่าโครงการในปัจจุบัน มีมูลค่าสูงถึง 150,000-200,000 ล้านบาททีเดียว .-สำนักข่าวไทย