สำนักข่าวไทย 25 พ.ค.-สธ. ให้ “ฝีดาษลิง” เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ย้ำยังไม่พบในไทย ระยะฟักเชื้อ 5-21 วัน มีไข้และผื่นตุ่มหนองขึ้น ได้ตามตัว รวมถึงอวัยวะเพศและทวารหนัก
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากเมื่อวานนี้ ได้มีการหารือ คณะกรรมการวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีมติเห็นชอบให้จัดโรคฝีดาษลิง (monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และเป็นโรคระบาดนอกราชอาณาจักรและในบางประเทศที่มีการระบาดภายในประเทศแล้ว ยังไม่จัดเป็นโรคติดต่ออันตราย เนื่องจากเบื้องต้นยังไม่มีผู้ป่วยในประเทศไทย ลักษณะการแพร่กระจายของโรคเป็นลักษณะคนใกล้ชิดกันมากๆ เฉพาะกลุ่ม ยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างไปหลายๆทวีป และอัตราป่วยตายยังเป็นสายพันธุ์ที่ป่วยรุนแรงน้อย และประเทศไทย จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบผู้ป่วย จากการเดินทางเข้าประเทศ โดยแต่ละวันไทย มีผู้ป่วยเดินทางจากต่างประเทศในกลุ่มยุโรปเฉลี่ยวันละ 10,000 คน การป้องกันในคนต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จะต้องลงทะเทียนผ่าน ไทยแลนด์พลัส พร้อมรับเฮลบีแวร์การ์ด ส่วนในคนไทยรับเฮลบีแวร์การ์ดเช่นกัน เพื่อไปสังเกตตัวเอง ทั้งนี้โรคฝีดาษลิง ถือเป็นโรคจากสัตว์สู่คน และมีการติดเชื้อจากคนสู่คนได้ จากการสัมผัสตุ่มหนอง หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ปกติ ป่วยแล้วสามารถหายได้ เอง มีบางรายที่มีอาการรุนแรง ซึ่งพบว่าความรุนแรงของโรค สัมพันธ์กับโรคเรื้อรัง เช่น ในคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อเข้ากระแสเลือด และการติดเชื้อที่กระจกตา อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น ข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคฝีดาษลิง จากการรายงานผู้ป่วยทั่วโลก ณ วันที่ 23 พ.ค.2565 พบว่า มีผู้ป่วย 123 คน เป็นชาย 122 คน หญิง 1 คน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-59 ปี อาการป่วยที่สำคัญ ผื่น/ตุ่มนูน 98% ไข้ 39% ต่อมน้ำเหลืองโต 2% และไอ 2% ลักษณะของผื่น เป็นแผลUlcer 75% ตุ่มน้ำใส 9% ผื่นนูน/ตุ่มหนอง 2% บริเวณที่พบผื่น ส่วนใหญ่พบบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณอวัยวะเพศ 39% ปาก 30% และรอบทวารหนัก 2%โดย ฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์ คือ West African Clade และCentral African Clade โดยสายพันธุ์ที่เจอในผู้ป่วยทั่วโลก จากการตรวจ 9 คน พบเป็นสายพันธุ์ West African Clade มีอัตราป่วยตาย 1% ซึ่งอัตราป่วยตายต่ำกว่า สายพันธุ์ Central African Clade ที่มีอัตราป่วยตาย10%
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับการฟักตัวของโรคดังกล่าว ประมาณ 5-21 วัน ป่วยน้อยสุด 5 วัน ป่วยมากสุด 21 วัน ซึ่งระยะของการป่วยแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 มีไข้ ปวดศีรษะ ,ช่วงที่ 2 ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว กล้ามเนื้อ และมีผื่นขึ้นทั้งตัวพร้อมๆกัน ออกผื่นหลังไข้ขึ้น เริ่มจากใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยเป็นตุ่ม น้ำใส จากนั้นเป็นหนอง และตุ่มน้ำดังกล่าว สามารถขึ้นได้ตามเนื้อเยื่ออ่อน เช่น อวัยวะเพศ ทวารหนัก และในช่องปาก แตกต่างจากสุกใส ที่ตุ่มจะทยอยขึ้น.-สำนักข่าวไทย