ยธ. 24 พ.ค.- อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นำทีมร้อง รมว.ยุติธรรม ตรวจสอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปมทำสัญญาให้บริษัทเอกชนเช่าที่ดินวัดเก่าตรงย่านประตูน้ำด้วยราคาถูก เชื่อโยงคดีเงินทอนวัดพระพรหมดิลก เพราะเป็นผู้ค้านสัญญาดังกล่าว
ที่กระทรวงยุติธรรม นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมด้วยนายจตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา และนายอรรณพ บุญสว่าง ทนายความ เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อขอให้ รมว.ยุติธรรม ตรวจสอบสัญญาของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ทำสัญญากับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้เช่าที่ดินบริเวณแยกประตูน้ำ ตลาดเฉลิมโลกฝั่งเหนือ ติดถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน โดยทำสัญญาให้บริษัทดังกล่าวเช่าระยะเวลา 40 ปี มูลค่าเช่าประมาณ 400 ล้านบาท เฉลี่ยตกเดือนละ 65,000 บาท ทั้งที่ในความเป็นจริงและมูลค่าที่ดินบริเวณดังกล่าวการประเมินราคาที่ดินอยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท ที่น่าแปลกใจ ปัจจุบัน ผู้เช่ารายเดิมที่เป็นประชาชนทั่วไป ยังคงมีสัญญาเช่าจนถึงปี 2568 จะหมดสัญญาวันที่ 26 มีนาคม 2568 แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกลับทำสัญญากับเอกชนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งถือว่ามีการทำสัญญาล่วงหน้าทับซ้อนสัญญาเดิมที่ยังไม่หมดอายุ
นายอรรณพ บุญสว่าง ทนายความ กล่าวว่า สัญญาดังกล่าว ทำตามมติของมหาเถระสมาคม 21/2562 ซึ่งมีการรับรองมติของคณะกรรมการพิจารณางบประมาณศาสนสมบัติกลางประจำ หรือ พศป. ที่เห็นชอบให้บริษัทเอกชนรายดังกล่าวเช่าพื้นที่ จากนั้นก็มีการทำสัญญากันในปี 2562 โดยจุดที่น่าสนใจ ก็คือเรื่องการให้เอกชนรายนี้เข้าเช่าพื้นที่ เคยมีการนำเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคมตั้งแต่ปี 2556 แต่พระพรหมดิลก ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาเถรสมาคม ไม่เห็นด้วย คัดค้านมาตลอด จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระพรหมดิลก ถูกกล่าวหาและจับกุมในคดีทุจริตเงินทอนวัด
นายจตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการลงมติให้ทำสัญญาเช่ากับบริษัทดังกล่าว มีการบุกจับกุมพระพรหมดิลก หรือเอื้อน หาสธัมโม เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะกรุงเทพฯ ในขณะนั้น กับ พระอรรถกิจโสภณ เลขานุการเจ้าคณะกรุงเทพฯ วัดสามพระยา ในขณะนั้น จนถูกจำคุกระหว่างดำเนินคดี 1 ปี 3 เดือน 2 วัน แต่สุดท้ายศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้ง 3 ศาล ซึ่งพระพรหมดิลกเป็นพระที่คัดค้านการที่ พศป.จะให้บริษัทดังกล่าวเช่าที่ดิน จึงเชื่อว่าการดำเนินคดีพระพรหมดิลก ในคดีเงินทอนวัด เป็นเพียงการทำให้พ้นเส้นทาง ที่จะให้บริษัทดังกล่าวเข้ามาทำสัญญา สังเกตได้จากหลังมีการจับกุมพระพรหมดิลกเพียง 1 วัน ก็มีการประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณากรณีการทำสัญญาให้เช่าที่ดินกับบริษัทดังกล่าว ซึ่งพระพรหมดิลกเป็นผู้ที่จะต้องเข้าร่วมประชุมลงมติด้วย แต่กลับถูกจับกุมเสียก่อน
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการ สตง. กล่าวว่า เห็นพิรุธตั้งแต่แรกว่าการให้เช่าที่ในราคาที่ถูกมาก ผลประโยชน์ไม่เป็นธรรม ซึ่งถือเป็นการทุจริตอย่างหนึ่ง เป็นการจงใจให้ผลประโยชน์กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและเป็นสัญญาที่มิชอบ อยากให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบ
นายนราเศรษฐ์ บุญญาวัลย์ ผู้เช่าเดิมซึ่งอยู่อาศัยตลาดเฉลิมโลก ฝั่งเหนือ แยกประตูน้ำ กล่าวว่า ปี 2557 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เคยมีหนังสือแจ้งยกเลิกการเช่าที่ดินทุกราย ต่อมาจึงทราบว่ามีการทำสัญญาให้เอกชนเช่าทำห้างสรรพสินค้า โดยมีค่าตอบแทนน้อยมาก เช่า 5 ไร่ 2 งาน เพื่อทำโครงการ 4,000 ล้านบาท แต่จ่ายค่าเช่า 40 ปีเพียง 400 ล้านบาท ผู้เช่าเดิม 101 ครัวเรือน จึงต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2562 แต่บริษัทเอกชนพยายามเข้ามาทุบตึก ทั้งที่สัญญายังไม่หมด จะหมดวันที่ 27 มีนาคม 2568 จำนวนตอนนี้ชาวบ้านไม่สบายใจ เพราะอยู่มา 80 ปี ตนเป็นรุ่น 3 แล้ว ซึ่งตอนนี้ศาลคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้เอกชนเข้ามาทุบตึกชาวบ้าน
ทั้งนี้ วันนี้ถือเป็นวันครบรอบ 4 ปี ของการจับกุมในคดีเงินทอนวัดด้วย โดยข้อมูลที่นำมาร้องเรียน มีหลักฐาน 8 ชิ้น เช่น สัญญาเช่าที่ดิน ซึ่งได้ข้อมูลดังกล่าวจากคนใน พศป. ที่เห็นความไม่ชอบมาพากล.-สำนักข่าวไทย