กรุงเทพฯ 19 พ.ค.-บมจ.ปตท. ส่งสัญญาณราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แพงต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี กระทบค่าไฟฟ้า พร้อมร่วมมือแบ่งเบาภาระประชาชน ที่ผ่านมาร่วมรับภาระกว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่วนจะให้ กฟผ.ชะลอจ่ายค่าก๊าซฯ อยู่ระหว่างหารือร่วมกับ ก.พลังงาน พร้อมแนะสูตรลดต้นทุนและสร้างความมั่นคงควรนำเข้าสัญญาระยะยาว 70%
ประเทศไทยพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้าราวกว่าร้อยละ 60 โดยที่มาของก๊าซฯเดิมใช้ในประเทศเป็นหลัก ราคาผันแปรตามราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน แต่ปริมาณก๊าซฯในประเทศเริ่มลดลง และยังมีปัญหาการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้า ทำให้ปริมาณจากแหล่งนี้ลดลงกว่าแผนงานเดิมเกินครึ่งหนึ่ง จากเดิมคาดว่าช่วงเปลี่ยนผ่านสัญญาจากสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) แหล่งนี้จะผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ผลิตได้จริงไม่ถึง 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ปี 2565 ไทยต้องนำเข้าแอลเอ็นจีสูงขึ้น คาดนำเข้าแอลเอ็นจีสัญญาตลาดจร (สปอต) ราว 5 ล้านในขณะที่ ปตท.มีสัญญาระยะยาวนำเข้า 5.2 ล้านตันต่อปี ในขณะที่แผนการนำเข้าแอลเอ็นจีนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เป็นผู้กำหนด ล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน มอบหมาย ทุกภาคส่วนเร่งทำแผนระยะยาวเพื่อลดต้นทุน และให้รัฐวิสาหกิจทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท.ร่วมรับภาระค่าไฟฟ้าแทนภาคประชาชนไปก่อน เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าที่พุ่งขึ้น โดยก่อนหน้านี้ กฟผ.ระบุร่วมรับภาระค่าไฟฟ้าเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิง ตั้งแต่ ค่าไฟฟ้า FT (ค่าไฟฟ้าผันแปร)งวดเดือนกันยายน 2564 จนถึงงวดเดือนเมษายน 2565 แทนประชาชนเป็นการชั่วคราว ประมาณ 60,000 ล้านบาท ทำให้ กฟผ.ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จำเป็นต้องกู้เงินมาลงทุนแล้ว 25,000 ล้านบาท
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า กล่าวว่า ปตท. พร้อมให้ความร่วมมือในการดูแลต้นทุนค่าก๊าซฯของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการหลายรูปแบบรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาทไปแล้ว และล่าสุด อยู่ระหว่างหารือ กับ กกพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อ LNG ช่วงราคาตลาดโลกอ่อนตัวลง มาเก็บกักไว้ใช้เพราะตามฤดูกาลแล้วช่วงพ้นหน้าหนาวราคาจะต่ำลง โดยในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 21-22 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จากที่ปีนี้ราคาทำสถิติสูงสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ประมาณ 84-85 เหรียญต่อล้านบีทียู และคาดว่าในช่วง 3 ปีนี้ราคาจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเห็นด้วยกับนโยบายของรมว.พลังงานที่ต้องเร่งทำแผนระยะยาวในการนำเข้าแอลเอ็นจี เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยควรจะมีแนวทางที่ชัดเจนออกมาในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ดังนั้น การล็อกทั้งปริมาณและราคานำเข้าก็จะทำให้ได้ราคาที่ต่ำ โดย เห็นว่า สัดส่วนการใช้แอลเอ็นจี ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ควรเป็นการจัดหาภายใต้สัญญาระยะยาว 70% และสัญญาระยะสั้น 30% จากก่อนหน้านี้ ในช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้สัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ทั้งสัญญาระยะยาวและระยะสั้นใกล้เคียงกัน อยู่ที่ 50:50
“แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติ จะยังเป็นขาขึ้นไปอีก 2-3 ปี จากผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และยังเป็นผลจากการฟื้นตัวหลังโควิด-19ซึ่ง ประเทศไทยก็ต้องวางแผนการนำเข้าให้เหมาะสม เพื่อทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด ซึ่ง ปตท.พร้อมให้ความร่วมมือทั้งการนำเข้าและการเร่งรัดสถานีแอลเอ็นจีหนองแฟบให้เสร็จเร็วขึ้นเพื่อรับความต้องการแอลเอ็นจีที่สูงขึ้น”นายวุฒิกร กล่าว
สำหรับโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 หนองแฟบจังหวัดระยอง [T-2] ระยะแรก จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในช่วงปลายเดือนมิ.ย.หรือ ต้น ก.ค.นี้ ซึ่งจะรองรับการนำเข้า LNG ได้ 2.5 ล้านตัน และสิ้นปีจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมรองรับนำเข้า LNG ได้รวม 7.5 ล้านตัน ทำให้รวมกับ Terminal แห่งที่ 1 มาบตาพุดแล้ว ประเทศไทยจะมีศักยภาพรองรับ LNG ได้ถึง 19 ล้านตันต่อปี ส่วนการจองสิทธิ์เพื่อใช้บริการ Terminalแห่งที่ 2 นั้น จะต้องสอดรับกับการพิจารณาของ กกพ.ด้วย เพราะการนำเข้า LNG ของ Shipper แต่ละราย จะต้องผ่านการอนุมัติจาก กกพ.ก่อน
ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงาน มอบหมายให้ ปตท.พิจารณาขยายระยะเวลาชำระเงินค่าเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับ กฟผ.เพื่อร่วมแบ่งรับต้นทุนค่าไฟฟ้าไปก่อนนั้น ปตท.อยู่ระหว่างหารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งค่าซื้อก๊าซฯ ของกฟผ.ในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่ปีนี้เนื่องจากราคาก๊าซฯสูงขึ้นและปริมาณเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจทำให้รายจ่ายซื้อก๊าซฯ อยู่ที่ 12,000-13,000 ล้านบาทต่อเดือน โดยที่ผ่านมา สัญญาชำระค่าก๊าซฯของ กฟผ.ที่จ่ายให้ ปตท.จะจ่ายหลังรับก๊าซแล้วประมาณ 1 เดือน
สำหรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปีนี้ คาดว่า จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากที่ประเทศไทยเปิดเมืองและอากาศร้อน โดยไตรมาส 1/65 ความต้องการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 4,420 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้น 5-6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/ 64 โดยความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น มาจากภาคการผลิตไฟฟ้า ที่มีความต้องการใช้ก๊าซฯ 2,650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ก็เริ่มกลับมาเดินเครื่องการผลิตมากขึ้นตามทิศทางการเปิดประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ คาดว่า ปี 2565 ประเทศไทยจะมีความต้องการนำเข้าแอลเอ็นจีรวมอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตัน แบ่งเป็นสัญญา ระยะยาวของ ปตท. 5.2 ล้านตัน(ราคาเฉลี่ยเดือนพ.ค.อยู่ที่ประมาณ 12-13 เหรียญต่อล้านบีทียู ) และอีก 5 ล้านตัน จะเป็นตลาดจร( Spot LNG )ที่ กกพ.จะเป็นผู้พิจารณาให้นำเข้าโดย Shipper โดยปีนี้มีผู้ได้รับอนุญาตแล้วคือ ปตท. และ กฟผ. ซึ่งจากที่ราคาสูงทำให้ชิปเปอร์รายอื่นๆยังไม่นำเข้า ทำให้สัดส่วนการใช้ก๊าซของประเทศปีนี้ ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีประมาณ30-35 % ก๊าซในประเทศ (ราคาประมาณ 6 เหรียญ/ล้านบีทียู ) ประมาณ 45% นำเข้าก๊าซจากเมียนมา (ราคาประมาณ 8 เหรียญ/ล้านบีทียู )ประมาณ 20 % โดยกรณีราคาแอลเอ็นจีตลาดจรที่ประมาณ 21-22 เหรียญต่อล้านบีทียู ก็จะส่งผลให้ราคาต้นทุนก๊าซเฉลี่ย (POOL ) ของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาท/ล้านบีทียู
ที่ผ่านมา ปตท.ได้ช่วยเหลือลูกค้าก๊าซธรรมชาติ ในช่วงราคาพลังงานผันผวน อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ใช้ก๊าซ NGV ผ่านมาตรการ
เอ็นอีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน คงราคา ที่ 13.62 นาท/กิโลกรัม และรถทั่วไป ที่ 15.59 นาท/กิโลกรัม (1พ.ย.64-15มิ.ย.65)วงเงิน 3,322 ล้านบาท
2.กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ได้ ร่วมรับภาระตั้งแต่ พ.ย.64 และอยู่ระหว่างหาทางเลือกเพิ่มเติม โดยที่ผ่านมาใช้วงเงินร่วมรับภาระแล้ว 6,857 ล้านบาท
3.กลุ่มลูกค้าไฟฟ้า SPP มีราคาส่งเสริมพิเศษสำหรับก๊าซที่ใช้ในอุตสาหกรรมประมาณ 3 เดือน วงเงิน 255 ล้านบาท
4.กลุ่มผู้ใช้ก๊าซ LPG ซึ่งปตท. ช่วยเหลือให้ส่วนลดแก่กลุ่มร้านค้า หานเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสติการแห่งรัฐ จำนวนเงิน 100 บาท/คน/เดือน ตั้งแต่ 1 ต.ค.62 – 30 มิ.ย. 65 วงเงินรวมประมาณ 18 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธุรกิจก๊าซฯ ปตท.ยังได้ปรับตัวรองรับกับโอกาสและความท้าทาย ที่ความนิยมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น การเพิ่มมูลค่าทั้งมีธุรกิจใน สถานีบริการ NGVและอื่นๆ ซึ่งจะเป็นได้ว่า สถานี NGV ปตท. สาขากำแพงเพชร 2 ได้ปรับโฉมรูปแบบใหม่ เป็นสถานีนำร่องที่ให้บริการสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) แห่งแรก ในปีนี้คาดว่า จะขยายเพิ่ม ให้ครบ 10 แห่ง ซึ่ง สาขากำแพงเพชร 2 พบว่า มีผู้สนใจนำรถอีวี เข้ามาใช้บริการวันละ 50-60 คัน. -สำนักข่าวไทย