นนทบุรี 18 พ.ค.-รมช.พณ. ขานรับข้อสั่งการนายกฯ เดินหน้าสกัดสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทุกมิติสร้างความเชื่อมั่นประเทศคู่ค้า-นักลงทุน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเนื่องจากสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไม่มีคุณภาพ
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่กำชับและให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในทุกมิติ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดต่อชีวิตหรือทรัพย์สินทางปัญญาของประชาชนจากการบริโภคสินค้าละเมิดฯ ซึ่งเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ เริ่มตั้งแต่การสกัดสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่นำเข้ามาผ่านแนวชายแดน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกรมศุลกากร ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง กำหนดให้สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออก ห้ามนำเข้า และห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2565 เพื่อสกัดกั้นสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ไม่ให้ส่งออก นำเข้าและผ่านราชอาณาจักร การแก้ไขปัญหาการละเมิดบนตลาดออนไลน์ โดยความร่วมมือกับมาร์เก็ตเพลสขนาดใหญ่เพิ่มช่องทางร้องเรียน หากพบสินค้าละเมิดฯ จำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์และนำออกจากระบบทันทร
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางปัญญาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยในปี 2564 จัดพิธีทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้ว จำนวน 572,076 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งมีปริมาณของกลางฯ ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวน 785,376 ชิ้น และให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคเห็นถึงภัยของการซื้อหรือบริโภคสินค้าปลอม เช่น ยาปลอม เครื่องสำอางปลอม หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าปลอม สำหรับการดูแลผู้ค้ารายย่อย กรมฯ ได้ร่วมมือกับโมเดิร์นเทรด ช่วยสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ค้ารายย่อยไม่นำสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาจำหน่าย โดยมาตรการลดค่าเช่าพื้นที่และมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
“กรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาคมโลกได้รับรู้ว่าประเทศไทยมีระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็ง เอื้อต่อการลงทุนและการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงการส่งเสริมการคุ้มครองและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน ทั้งคนไทยและต่างประเทศ อีกทั้งส่งเสริมให้คนไทยใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้า ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง”
นายวุฒิไกรกล่าว.-สำนักข่าวไทย