กทม. 22 มี.ค. – ภาพรวมงานสร้างพระเมรุมาศ คืบหน้าไปแล้วกว่า 30% โดยเฉพาะพระเมรุมาศประธานทรงบุษบก 9 ยอด ที่เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญ คือ การขยายแบบเท่าจริง งานช่างจึงต้องใช้ความชำนาญสูง
ลวดลายฐานชาลาพระเมรุมาศชั้นบนสุด ถูกขยายแบบ 1 : 1 ขนาดเท่าจริง ภายในโรงขยายแบบสนามหลวง โดย ก่อเกียรติ ทองผุด ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ ศิษย์ อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น บรมครูด้านสถาปัตยกรรมไทย ผู้ล่วงลับ
งานขยายแบบเท่าจริงถือเป็นขั้นตอนสำคัญในงานสถาปัตยกรรมไทย เพราะมีรายละเอียดสูง โดยเฉพาะฐาน และเครื่องยอดที่เรียวแหลม อาจเกิดปรากฏการณ์ อากาศกิน คือ มวลของยอดที่พุ่งไปในอากาศ จะมองเห็นเล็กเกินความจริง จึงต้องขยายแบบเท่าจริงลงบนกระดาษขนาดใหญ่ เพื่อตรวจทานไม่ให้ผิดเพี้ยน จึงต้องใช้ประสบการณ์ที่ถ่ายทอดจากครูสู่ศิษย์ และเป็นครั้งแรกที่ทำภาพ 3 มิติ และโมเดลจำลองช่วยเพื่อให้เกิดภาพเสมือนจริง
ส่วนโครงสร้างบุษบกทั้ง 9 ยอด เข้าสู่ขั้นตอนนำแบบ 1 : 20 สแกนลงคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม AutoCAD เปลี่ยนลายเส้นดินสอ สู่ลายเส้นดิจิทัล เพื่อเขียนผังชั้นเชิงกลอนแต่ละชั้น เขียนรูปตัด ตามที่วิศกรและผู้ออกแบบวางไว้ หากกระทบต่อทรวดทรวงและโครงสร้างความแข็งแรง สามารถปรับลดหลั่นหรือเพิ่มเติมได้ เพื่อลดความผิดพลาดในขั้นตอนงานก่อสร้างพระเมรุมาศ
นับเป็นครั้งแรกที่วางยอดพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด เพราะเป็นทรงพระเมรุมาศสำหรับพระมหากษัตริย์ เลข 9 มีนัยถึงในหลวง พร้อมขุดสระอโนดาตจริง มีสัตว์หิมพานต์ ช้าง ม้า โค สิงห์ อาคารสูงของบุษบกมาลา เทียบเคียงเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล ฐานทั้ง 4 ทิศ มีเทพชุมนุม 108 องค์ ท้าวจตุโลกบาล มหาเทพ ครุฑ ซึ่งอยู่ระหว่างการปั้นที่สำนักช่างสิบหมู่
ความพิเศษคือเสาไฟให้ความสว่างบนชั้นชาลาพระเมรุมาศ จากที่เคยเป็นเสาหงส์ เป็นเสาครุฑลอยกลางอากาศ แขวนโคมไฟระย้า 12 เสา อยู่แต่ละชั้นชาลา 8 ตัว และลานอุตราวรรต 4 ตัว อยู่ระหว่างการร่างแบบส่งให้ทีมปั้น เส้นทุกเส้นในงานสถาปัตยกรรมล้วนมีความหมาย ทุกแบบต้องงดงามและสื่อความหมายตามคติความเชื่อ และโบราณราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมา. – สำนักข่าวไทย