เครื่องจักรหนักเดินหน้ารื้อถอนเต็มกำลัง ส่งทีมกู้ภัยค้นหาผู้สูญหาย

2 เม.ย.- เครื่องจักรหนักเดินหน้าเต็มกำลัง “หยิบ ยก รื้อ” แผ่นปูน-โครงเหล็ก หลังยังไม่มีสัญญาณพบผู้สูญหายเพิ่ม ด้านนายกสภาวิศวกรเผยเจ้าหน้าที่เร่งขุดโพรง 3 โซนหลัก พร้อมส่งทีมกู้ภัยฯ ค้นหาผู้สูญหาย หวังพบผู้รอดชีวิต


ความคืบหน้าของปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุอาคารในโครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ จตุจักร ถล่ม ขณะแผ่นดินไหว เข้าสู่วันที่ 6 แล้ว หลังจากเสียงสัญญาณแตรลมดังขึ้น 3 ครั้ง เครื่องจักรทุกชนิดหยุดทำงาน เนื่องจากมีรายงานพบสัญญาณชีพ บริเวณกองซากอาคาร สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โซน D ทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยทั้งไทยและนานาชาติได้เข้าพื้นที่สำรวจพร้อมกับนำสุนัขดมกลิ่นตรวจหาสัญญาณชีพผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมง แต่ปรากฏว่าสัญญาณที่พบอ่อนมาก จากนั้นได้มีการส่งสัญญาณ เครื่องจักรหนักทุกชนิดกลับมาเดินเครื่องทำงานอีกครั้งอย่างต่อเนื่อง เป็นความหมายที่รู้กันว่ายังไม่มีการพบผู้ประสบภัยที่สูญหายเพิ่ม และเสียงเครื่องจักร รวมถึงฝุ่นกลับมาคละคลุ้งกระจายเต็มพื้นที่ ท่ามกลางความหวังของญาติทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งสัญชาติเมียนมาและกัมพูชา ต่างมายืนรอด้วยใจที่จะจดจ่ออย่างมีความหวังว่าคนในครอบครัว และญาติของพวกเขาจะยังคงรอดชีวิต

โดยเวลา 18.30 น. เจ้าหน้าที่ได้นำรถน้ำฉีดพรมน้ำขึ้นไปบริเวณกองซากอาคารที่ถล่ม เพื่อเป็นการลดฝุ่นโดยไม่กระทบกับตัวโครงสร้าง ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญได้มีการประเมินแล้ว


ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า การใช้เครื่องมือหนักดึงรั้งไว้เพื่อให้คนเข้าไปหาข้างใน เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นหากไม่เจอก็จะถอนกำลังและจะใช้เครื่องจักรหนักทำงานต่อเพื่อหาโพรง เพราะโอกาสที่ผู้ประสบภัยจะรอดชีวิตจะอยู่ในโพรง แม้จะเลยเวลามาแล้วแต่พยายามทำคู่ขนานกันไป เพราะหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ที่จะช่วยชีวิตเขาได้ จึงจะทำในลักษณะนี้สลับกันไป โดยผู้รอดชีวิตอาจจะอยู่ตามโพรงใหญ่ จุดพัก ช่องบันได เท่าที่ค้นหาดูแล้วมีโอกาสที่จะมีอากาศหรือออกซิเจนอยู่ เพราะเมื่อขุดเข้าไปถึงโพรงพบว่าภายในโล่ง แต่ไม่สามารถเอาตัวคนลอดเข้าไปได้จะต้องใช้กล้องลงไปส่องดู จึงมีโอกาสที่จะมีอากาศไหลเข้าไป หวังว่าจะมีปาฏิหาริย์อยู่ตรงนั้น ขณะเดียวกันได้พยายามลดน้ำหนักบริเวณโซน C และ D เพื่อจะนำของหนักๆ ออก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ กล่าวว่า คนส่วนใหญ่หากจะหนี จะหนีไปทางบันไดและปล่องลิฟท์ เมื่อมาถึงจุดหนึ่งจะมีสิ่งมากีดขวาง หากวิ่งหนีออกมาไม่ได้บางส่วนก็อาจจะหลบอยู่ที่ลานจอดรถใต้ดิน อุปสรรคช่วงแรกจะเห็นว่าพื้นทับกันเป็นชั้นในลักษณะแพนเค้ก พื้นที่ทับกันเป็นชั้นทำให้ยากต่อการที่จะทะลวงให้เป็นรูแล้วลงไปถึงด้านล่างและยากต่อการดึงออกทั้งแผงเนื่องจากยาวมาก หากจะยกออกทั้งแผงจะต้องเคลียร์วัสดุออกก่อน โดยเฉพาะเสาที่ล้มลงมาถูกโยงกันด้วยเหล็ก สันนิษฐานว่าอาจเป็นรอยต่อระหว่างพื้นกับเสา เมื่ออาคารล้มลงมาก็ต้องมีเหล็กผูกฉะนั้นจะต้องมีการตัดเหล็กก่อน หากจะยกพื้นชั้นบนออกก็จะทำให้ติดเสา จะต้องดึงตัวที่เป็นเสาออกก่อน จากนั้นจะต้องปรับระดับความสูงที่อยู่ด้านบนให้ใกล้เคียงกันเพื่อปรับสมดุลไม่ให้ไหลลงมาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับทีมกู้ภัย โดยจะทำเป็นขั้นบันไดไล่เลียงขึ้นไป ได้เริ่มกระบวนการไปตั้งแต่เมื่อวานนี้ได้ใช้เครื่องมือหนักในโซน C และ D ส่วนโซน B ยังเสี่ยง เนื่องจากว่ามีพื้นที่มีเสาหักทับลงอยู่ ขณะนี้จะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่พยายามเข้าไปให้ถึงโซน A ด้วย เพื่อเปิดโพรงให้คนเข้าไปได้ด้วย โดยจะมีการทำแบบนี้ไปสักระยะเมื่อถึงจุดหนึ่งจะให้คนเข้าไปค้นหาต่อสลับกันไป

ส่วนโอกาสที่จะพังถล่มซ้ำถ้าขุดไม่เป็น และไม่มีความชำนาญ เช่น ดึงจากข้างล่างออกก่อน ข้างบนก็จะถล่มทันที ดังนั้นเป็นไปได้หมด หากรื้อไม่เป็นหรือไม่ถูกวิธี เพราะฉะนั้นเราต้องประเมินเรื่องความลาดชันตลอดเวลาของซากอาคาร หากไปดึงจุดไม่ถูกต้องจะไปกระตุกทั้งหมดให้ถล่มลงมา แต่หากใช้วิธีขั้นบันไดที่ทำอยู่โอกาสที่จะถล่มซ้ำเป็นไปได้ยาก และจะสังเกตุได้ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้คีบเอาเศษปูนจากด้านบนออกก่อน แต่มีการกำกับและดูแลเรื่องของการดึงชิ้นส่วนออกอยู่ตลอดเวลา


หากประเมินความยากง่ายกรณีที่ใกล้เคียงกัน ปี2557 เคยเกิดเหตุอาคารถล่มอยู่แค่ 5-6 ชั้น และครั้งนั้นก็มีผู้รอดชีวิตอยู่ที่บริเวณปล่องลิฟท์กับตัวพื้น โดยคนอื่นเสียชีวิตหมดแต่ผู้รอด เกือบจะโดนทับเพียงแค่ 15 เซนติเมตร ใช้เวลากู้ 25 ชั่วโมง ซึ่งตอนนั้นตัวเองก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย โดยคาดหวังว่าจะมีผู้รอดดชีวิตในลักษณะเดียวกัน

ส่วนระยะเวลาในการทำภารกิจ รวมถึงการรื้อถอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อยากให้ประเมินเป็นวันต่อวัน ซึ่งตนเองก็ยอมรับคำวิจารณ์ แต่ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ที่ทำภารกิจทุกหน่วยต่างให้กำลังใจซึ่งกันและกันเพื่อต่อสู่หวังว่าจะช่วยผู้รอดชีวิตออกมาได้ โดยเชื่อว่าหากมีผู้รอดชีวิตเพียงแค่คนเดียวก็จะทำให้กู้ภัยทั้งหมดดีใจ

อย่างไรก็ตาม ทีมกู้ภัยกองกำลังผสม ทั้งไทยและต่างชาติเข้าค้นหาใต้อาคารโซน C พบบัตรประจำตัวพนักงาน กระเป๋า และรองเท้า คาดว่าเป็นของผู้ประสบภัยที่สูญหายในพื้นที่บริเวณดังกล่าว แต่ยังไม่พบผู้สูญหายในบริเวณดังกล่าว ซึ่งขณะนี้เครื่องจักรหนักกำลังทำงาน ส่วนทีมกู้ภัยประชุมวางแผนใหม่อีกรอบ .419 สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ผ่าไชน่า เรลเวย์ คว้า 3 โครงการรัฐในภูเก็ต

เหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม กลายเป็นปฐมบทในการปูพรมตรวจสอบบริษัท ไชน่า เรลเวย์ หลังพบเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการก่อสร้างตึก สตง. และโครงการรัฐหลายแห่งทั่วประเทศ ล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต ตรวจพบ 3 โครงการ และหนึ่งในนั้นกำลังมีปัญหาก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน

มหาสงครามโลก

นักวิชาการชี้ “มหาสงครามโลกครั้งที่ 3” เกิดแน่ถ้าโลกยังตึงเครียด

นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศระดับแนวหน้าของไทย มีความเห็นตรงกันว่า หากผู้นำชาติมหาอำนาจไม่เร่งลดระดับความตึงเครียดสถานการณ์โลก

กู้ภัยนานาชาติ เครือข่าย USAR ถอนกำลังแล้ว

กู้ภัยนานาชาติ เครือข่าย USAR ถอนกำลังแล้ว หลังอยู่ปฏิบัติภารกิจค้นหา-กู้ชีพ สนับสนุนกู้ภัยไทย เหตุตึก สตง.ถล่ม กว่า 1 สัปดาห์

ธรรมชาติใต้ดินเปลี่ยนไป หลังแผ่นดินไหว 1 สัปดาห์

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ แม้บนพื้นผิวดินจะไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก แต่พบความเปลี่ยนแปลงสภาพใต้ดินจนเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งหลุมยุบขนาดใหญ่ น้ำพุร้อนที่เคยพุ่งจากใต้ดินหายไป แต่น้ำตกที่แห้งในหน้าแล้งกลับมีน้ำไหลออกมา ซึ่งนักธรณีวิทยายืนยันเป็นผลพวงจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

ข่าวแนะนำ

นายกฯ เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กู้ภัยตึก สตง.ถล่ม

นายกรัฐมนตรี เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กู้ภัย ค้นหาผู้สูญหายเหตุตึก สตง.ถล่ม พร้อมสอบถามถึงอุปสรรคในการทำงานและความต้องการเพิ่มเติม

ปรับวิธีรายงานยอดผู้เสียชีวิต ให้นิติเวชยืนยันก่อน

รองผู้ว่าฯ กทม. เผยยอดผู้เสียชีวิตเหตุตึกถล่ม ที่ผ่านการพิสูจน์อัตลักษณ์แล้ว อยู่ที่ 16 ราย และอยู่ระหว่างการค้นหาอีก 78 ราย พร้อมแจงปรับวิธีรายงานยอดผู้เสียชีวิต ให้นิติเวชยืนยันก่อน

นายกฯ วางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะ เนื่องในวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

นายกรัฐมนตรี วางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ พุทธศักราช 2568 ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า