12 พฤษภาคม 2565
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Politifact (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ
บทสรุป:
- เป็นการบิดเบือนการให้ยาเข้าสู่ลำไส้ด้วยวิธี Theragrippers มาเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนผ่านการ Swab
- การให้ยาด้วยวิธี Theragrippers ยังอยู่ในขั้นทดลองกับสัตว์และไม่เคยใช้กับมนุษย์
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทาง Facebook ในสหรัฐอเมริกาโดยอ้างว่า งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins University ยืนยันว่า มีวิธีฉีดวัคซีนผ่านการแยงจมูกด้วยวิธี Swab โดยผู้เข้ารับการตรวจจะถูกฉีดวัคซีนโดยไม่รู้ตัว พร้อมย้ำว่าการรณรงค์ใช้ชุดตรวจ PCR test อย่างแพร่หลาย เป็นแผนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ต้องการเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนโควิด 19
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
กระบวนการที่ผู้โพสต์กล่าวอ้าง คือการทดลองให้ยาผ่านอุปกรณ์ขนาดเล็กที่เรียกว่า Theragrippers ซึ่งเผยแพร่ในบทความของ Johns Hopkins University ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2020 โดยโฆษกของ Johns Hopkins Medicine ยืนยันว่า จุดประสงค์ของ Theragrippers ไม่ได้มีไว้เพื่อฉีดวัคซีนผ่านการ Swab ตามที่กล่าวอ้าง และยอมรับว่าช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา บทความดังกล่าวถูกผู้ไม่หวังดีนำไปบิดเบือนจุดประสงค์ของงานวิจัยอย่างแพร่หลาย
Theragrippers คืออุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดเล็ก มีขนาดเทียบเท่ากับฝุ่นผง พัฒนาเพื่อยกระดับการใช้ยารักษาโรคระบบทางเดินอาหาร โดย Theragrippers ซึ่งมีลักษณะเป็นแฉกจะเคลื่อนเข้าสู่ลำไส้ผ่านกล้องส่องตรวจอวัยวะภายใน (Endoscope) แล้วไปเกาะที่บริเวณเยื่อบุผิวผนังลำไส้เล็ก เมื่อสัมผัสกับอุณหภูมิภายในร่างกายมนุษย์ อุปกรณ์จะหุบตัวแล้วลำเลียงตัวยาเข้าสู่ร่างกายต่อไป
รายงานของวารสาร Science Advances ที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมปี 2020 กล่าวถึงการใช้ Theragrippers กับหนูทดลองเป็นเวลา 24 ชั่วโมง พบว่าการให้ยาด้วย Theragrippers ทำให้ยาแก้ปวดอยู่ในตัวหนูทดลองนานกว่าการให้ยาด้วยวิธีปกติ จึงสรุปได้ว่าการให้ยาด้วยวิธี Theragrippers ช่วยเพิ่มประสิทธิผลและยืดเวลาการออกฤทธิ์ของยาได้ดีกว่าเดิม
ผู้โพสต์ข่าวลือยังนำรูปภาพประกอบรายงานของ Johns Hopkins University มาสร้างความเข้าใจผิด โดยรูปดังกล่าวเป็นการสาทิตให้เห็นถึงความเล็กของ Theragrippers ซึ่งเทียบได้กับฝุ่นผงที่ติดอยู่บนปลายสำลีทำความสะอาด (Swab) ซึ่งแท้จริงแล้ว Theragrippers ไม่ได้ใช้งานร่วมกับสำลีทำความสะอาดแต่อย่างใด
โฆษกของ Johns Hopkins Medicine ยืนยันว่า การใช้งาน Theragrippers ประสบความสำเร็จอย่างดีในห้องปฏิบัติการ แต่เทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา และยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ทดลองกับมนุษย์ นอกจากนี้ Theragrippers ยังไม่เคยใช้ทดลองสำหรับการฉีดวัคซีนอีกเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.politifact.com/factchecks/2022/feb/16/facebook-posts/no-you-cannot-be-vaccinated-against-covid-19-pcr-t/
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter