ทำเนียบ 2 พ.ค. – “วิษณุ” ชี้ใช้สูตร 100 / 500 คำนวณ ส.ส. ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการฯ เผยขั้นตอนร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ ไม่ทันประกาศใช้มิถุนายน เหตุต้องส่ง กกต. ให้ความเห็นก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ ใช้กรอบเวลา 90 วัน รับหากยุบสภาฯ ก่อน กม.ลูกเสร็จ ยุ่งแน่! บอกคิดไม่ออกทางแก้ เชื่อจบที่ศาล รธน. ตีความ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ระบุว่าไม่ทราบการการคิดสัดส่วนคะแนนต่อ ส.ส. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระหว่างหาร 100 และ 500 มีข้อดีและข้อเสียต่างกันอย่างไร แต่ทุกอย่างอยู่ที่ความเห็นของสภาฯ
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าหากใช้คะแนน 500 คำนวณจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายวิษณุมองว่าไม่ว่าจะใช้สูตรใด หากมีคนเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญจะต้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ขณะที่พรรคเล็กที่มีความต้องการให้หารด้วยจำนวน 500 แต่อีกฝ่ายออกมาระบุว่าหากใช้ 500 คะแนนในการคำนวณจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทางออกในเบื้องต้นต้องให้คณะกรรมาธิการเป็นผู้ตัดสิน แล้วนำกลับเข้าไปพิจารณายังที่ประชุมสภาฯ อีกครั้งหนึ่งว่ามีความเห็นอย่างไร
ขณะที่มีการประเมินว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ จะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม และประกาศใช้ในเดือนมิถุนายนนั้น นายวิษณุ ระบุว่า ไม่ใช่ เนื่องจากขั้นตอนของกฎหมายลูกจะไม่เหมือนกฎหมายอื่น เพราะเมื่อสภาฯ พิจารณาแล้วเสร็จจะต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ให้ความเห็นชอบ ใน 15 วัน และกกต. จะต้องตอบกลับใน 10 วัน ซึ่งรวมแล้วเกือบ 1 เดือน โดยหาก กกต. ไม่เห็นด้วยกับมาตราใด สภาจะต้องแก้ตามที่กกต. ให้ความเห็นชอบมา แต่หากมีการถกเถียงแต่ไม่มีการแก้ไขต้องนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและตีความ จึงจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้ โดยจะใช้เวลา 90 วัน ดังนั้นกฎหมายจะไม่ได้ประกาศใช้ในเดือนมิถุนายนตามที่มีการพูดกัน
นายวิษณุ เปิดเผยว่าหากกฎหมายไม่ผ่าน สามารถประกาศยุบสภาได้ แต่จะยุ่ง เนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งตนเองได้พูดมาตั้งแต่ต้นว่าจะเกิดปัญหา และจะกลับไปใช้กฎหมายเดิมไม่ได้ เนื่องจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยอมรับว่ามีการพูดว่ามีวิธีแก้ แต่ตนนั้นคิดไม่ออก ทั้งนี้จะออกมาในรูปแบบของพ.ร.ก. หรือไม่ ไม่ทราบ บางคนบอกให้กกต.ออกประกาศหรือระเบียบ บางคนบอกให้ออก พ.ร.ก. ขออย่าไปคิดเพราะถ้าเกิดปัญหาสภาฯ จะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างใดจะต้องเผชิญกับศาลรัฐธรรมนูญ
นายวิษณุ ย้ำว่า การยุบสภาฯ ทำได้ตลอดเวลายกเว้นที่ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ.-สำนักข่าวไทย