ทำเนียบฯ 27 เม.ย.- สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ตรึงดีเซล 30 บาท/ลิตร ออกไปอีก 1 ปี – ลดภาษีสรรพสามิต ลั่นหาก 1 พ.ค.65 ลอยตัวดีเซล จะปรับขึ้นค่าขนส่งทันที
สหพันธ์การขนส่งทางบกพร้อมเครือข่ายรวม 10 สมาคม เดินทางมาที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาลยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ทบทวนการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันดีเซล โดยเห็นว่า ตามที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่าการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2565 และตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ภาครัฐจะปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเป็นขั้นบันได
โดยอ้างอิงราคาน้ำมันดิบตลาดโลก และจะช่วยเหลือ 50% ของราคาน้ำมันดีเซลในส่วนที่เกิน 30 บาท นั้น สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยรวมถึงเครือข่ายพันธมิตรที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น เห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนเป็นวงกว้าง อาทิเช่น ประชาชนผู้บริโภคน้ำมันต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ผลิต ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วยังมีแนวทางอื่นๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาและทำให้รัฐบาลสามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 25 – 30 บาท ต่อลิตรได้ ดังนั้น สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยจึงเสนอแนวทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันดีเชล ดังต่อไปนี้
- ขอให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงานตรึงราคาน้ำมันดีเซล ราคาขายปลีกไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี
- ปรับปรุงโครงสร้างราคาน้ำมันให้เป็นธรรม โดยตัดไบโอดีเซล (B100) ออกจากสูตรน้ำมันดีเซล ซึ่งจะช่วยปรับลดราคาน้ำมันดีเซลได้ประมาณ 1.50 – 2 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี
- ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลให้เหลือ 20 สตางค์ เป็นระยะเวลา 1 ปี
- ยกเลิกการใช้ฐานอ้างอิงน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นสิงคโปร์ เนื่องจากมีค่าขนส่งและค่าประกันภัยรวมอยู่ด้วย
- พิจารณาปรับเปลี่ยนการบริหารงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เป็นการแสดงพลังครั้งที่ 5 แล้วนับตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อช่วงเดือน ต.ค.64 ตั้งแต่ดีเซล 25 บาทต่อลิตร กระทั่งตอนนี้ยังไม่มีการปรับราคาค่าขนส่งแต่อย่างใด แอยางไรก็ตามหากรัฐบาลประกาศลอยตัวดีเซล ทางเครือข่ายจะประกาศปรับขึ้นค่าขนส่งทันที คาดว่าขั้นต่น่าจะอยู่ที่ 20% เพราะเป็นจุดคุ้มทุนของรถบรรทุก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจ ผู้ประกอบก่ร และประชาชน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทบเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนกรณีรัฐบาลบอกว่า หากราคาดีเซลขึ้น 5 บาท รัฐจะอุดหนุนได้ครึ่งหนึ่ง หรือ 2.5 บาท มองว่าเป็นการเลี่ยงบาลีไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง พร้อมระบุสิ่งที่เราเรียกร้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ โดยการยื่นหนังสือครั้งนี้ มีนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มารับหนังสือ เพื่อดำเนินการต่อไป .-สำนักข่าวไทย