กรุงเทพฯ 12 เม.ย.- GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมพบค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพิ่มถึงระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ จ.หนองคาย อุบลราชธานี และนครพนม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจุดความร้อนในลาวที่มากกว่า 3,600 จุด
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า ข้อมูลจากดาวเทียมฮิมาวาริ (Himawari) บ่งชี้ว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ช่วงเช้าวันนี้ (12 เม.ย.) หลายพื้นที่ลดลง แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีส้ม) ถึงระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) โดยเฉพาะจังหวัดหนองคาย อุบลราชธานี และนครพนม
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลจากซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) ซึ่งพบจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและค่า PM 2.5 ในประเทศไทย เนื่องจากมีลมพัดฝุ่นละอองและหมอกควันเข้ามา โดยผลการตรวจวัดเมื่อวานนี้ (11 เม.ย.) ลาวมีจุดความร้อนสูงที่สุดต่อเนื่องเป็นวันที่ 9 ซึ่งวานนี้พบ 3,604 จุด อันดับ 2 เมียนมา 3,324 จุด และอันดับ 3 เวียดนาม 420 จุด
ขณะที่ประเทศไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 258 จุด ลดลงจากวันที่ 10 เม.ย. เล็กน้อย โดยพบมากที่สุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 83 จุด พื้นที่เกษตร 80 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 44 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 28 จุด พื้นที่ ส.ป.ก. 22 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 1 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ ตาก 33 จุด แม่ฮ่องสอน 21 จุด และเชียงใหม่ 18 จุด สอดคล้องกับการประเมินพื้นที่เสี่ยงสูงเกิดไฟป่าล่วงหน้า 7 วัน (วันที่ 11-17 เมษายน) ซึ่งพบจุดความร้อนกระจายตัวเล็กน้อยทางพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย โดยจำนวนไม่แตกต่างจากวันที่ผ่านมามากนัก
จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อน ตั้งแต่ 1 มกราคม – 11 เมษายน 2565 พบว่า ภาคเหนือมีจุดความร้อนแล้ว 13,365 จุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12,663 จุด และภาคกลาง 8,076 จุด
ทั้งนี้ ปัญหาไฟป่าหมอกควันส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม แต่อนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือ การสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผนป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย