ขึ้นชื่อว่าสื่อ เราอาจจะคิดว่าต้องเป็นกลาง และรายงานแต่ข้อเท็จจริงโดยไม่มีการตัดสินเลือกข้างใด ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัตินั้น ทำได้ยาก เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้สื่อไม่อาจนำเสนอข่าวรอบด้านได้ บทความต่อไปนี้จึงอธิบายให้เห็นโดยสังเขปว่า สื่อไม่มีความเป็นกลางอย่างไร และจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังโดนชักนำอยู่
Media Bias คืออะไร ?
ไบแอส คือ อคติ หรือความลำเอียง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถมีกันได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกับคนที่เรารักเราชอบ พรรคพวกเราเอง เวลาจะตัดสินความชอบธรรมอะไร เราอาจจะมีไบแอสแฝงอยู่บ้าง เช่นวลีชื่อดังที่เราได้ยินตามข่าวบ่อย ๆ ว่า “ลูกชั้นเป็นคนดี” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อพิจารณาถึงธรรมชาติของมนุษย์ เราจึงต้องมีคนกลางคอยตัดสินอยู่เสมอ คือพวกที่ไม่ฝักฝ่ายใด หรือศาลนั่นเอง
ซึ่งพอคำนี้มารวมอยู่กับสื่อ มันก็จะหมายถึง อคติของสื่อ คือการที่สื่อรายงานข้อมูลแบบไม่เป็นกลาง จนไม่เป็นไปตามมาตรฐานและจริยธรรมของการสื่อข่าว เราจะเห็นได้ชัดกับเรื่องเกี่ยวกับการเมือง และบางสื่ออาจจะแสดงออกให้เห็นชัดเจนเลยว่าตนฝักใฝ่ฝ่ายไหน ซ้ายหรือขวา เขาก็จะเล่าข่าวเอนเอียงไปทางนั้น
ทั้งนี้ สื่อประเภทนี้มักไม่น่ากลัวเท่าประเภทที่ทำทีว่าจะนำเสนอว่าเป็นกลาง แต่ไม่เป็นกลาง ก็คือประเภทที่แอบใส่ความลำเอียงลงไปนั่นเอง จนบางทีผู้เสพสื่อทั้งหลายก็อาจจะคิดไม่ถึง และโดนชักจูงไปโดยไม่ได้ตั้งใจเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นบทความต่อไปนี้จะเป็นการบอกกล่าว ว่าวิธีที่สื่อใช้ในการนำเสนอข่าวแบบใส่อติลงไปด้วย เป็นอย่างไร เพื่อที่ผู้อ่านจะได้ใช้วิจารณญานในการรับฟังอย่างทันท่วงที โดยไม่ไหลไปกับเจตนาของสื่อ
การลำเอียงโดยการละเว้น
คือการที่สื่อนำเสนอข้อเท็จจริงไม่รอบด้าน นำเสนอเพียงแค่ฝั่งเดียว จนส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เสพข่าวในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น การที่สื่อนำเสนอเรื่อง ผลกระทบของการเล่นวิดีโอเกมในเด็กวัยรุ่น
สื่ออาจจะนำเสนอแต่ข้อเสีย ด้านแย่ ๆ ของวิดีโอเกม จนมันตกเป็นจำเลยของสังคมเวลาเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือมีกระทำความรุนแรงได้ ทั้งที่จริงแล้ว ข้อดีมันก็มีอยู่บ้าง เช่นการสนับสนุน E-sport หรือการช่วยฝึกสมองเป็นต้น เพียงแต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ผู้ปกครองอาจจะเข้าไม่ถึง เนื่องจากสื่อละเว้นในการนำเสนอนั่นเอง
การลำเอียงโดยการเลือกอ้างอิง
การที่สื่อจะนำเสนอข้อเท็จจริงต่าง ๆ สื่อก็ต้องมีแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ว่าข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือ เช่น มีการยกคำของผู้เชี่ยวชาญมาพูด อาจจะใช้ชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็นอ้างอิง หรือสัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่าง ๆ แต่บางครั้ง เราอาจต้องลองสังเกตดูว่า สื่อจงใจเลือกแต่แหล่งอ้างอิงที่สนับสนุนแต่ฝ่ายของตนเองหรือไม่
เวลาที่สื่อใช้คำว่า “ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า” “ผู้เห็นเหตุการณ์แจ้งว่า” หรือ “คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่า”
อาจเป็นเพียงสิ่งที่สื่อคัดมาให้สอดคล้องกับฝั่งของตนเอง เช่น ถ้าสื่อจะนำเสนอเรื่อง “ผลกระทบของวิดีโอเกม” แล้วสื่อมีไบแอสในด้านแย่ ๆ ของเกมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สื่ออาจจะไปเล็งสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมความรุนแรงในเด็กเท่านั้น เพื่อมาสนับสนุนประเด็นของตนเอง หรือ สื่ออาจใช้วิธีคัดเฉพาะ quote หรือคำพูดที่ไปในทิศทางเดียวกับข้อเท็จจริงที่จะนำเสนอเท่านั้น
การที่จะแยกความลำเอียงตรงนี้ สามารถทำได้โดยการสังเกตว่า อ้างอิงที่สื่อยกมา โดยพื้นเพแล้วเป็นพวกไหน ฝ่ายไหน หรือมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งอย่างไร แล้วผู้อ่านก็จะเริ่มข้าใจได้ว่า ข้อเท็จจริงที่ยกมามีแนวโน้มที่จะเอนเอียงไปทางฝ่ายของเขาอยู่หรือเปล่า
การลำเอียงโดยการจัดตำแหน่ง วางลำดับความสำคัญ
บางครั้งสื่อก็นำเสนอข้อมูลด้านหนึ่งที่เด่นกว่าอีกด้านหนึ่ง ถึงแม้จะเล่าข่าวทั้งสองด้านก็ตาม ด้านหนึ่งอาจจะเล่าสั้น ๆ ข้อมูลคลุมเครือ ในขณะที่อีกด้าน สื่อนำเสนอได้อย่างละเอียดและเห็นภาพ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ พาดหัวข่าวที่เน้นเรียกผู้อ่านให้เข้ามาดูจำนวนมาก หากสังเกตดี ๆ ผู้อ่านจะเห็นว่าบางข่าวจะมีตัวหนังสือเล็ก ๆ ต่อท้ายเพื่อขยายความ ซึ่งอาจจะเป็นคนละประเด็นกับพาดหัว ซึ่งสำหรับผู้อ่านบางท่านอาจจะเข้าใจผิดไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากไม่ได้อ่านเนื้อหาข้างในให้ละเอียดถี่ถ้วน
การลำเอียงโดยเทคนิคการใช้คำพูดที่สื่อถึงอารมณ์
การใช้ภาษาในการบรรยายข่าวที่กระตุ้นอารมณ์ผู้อ่านมากเกินไป อาจจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด หรือมีความรู้สึกต่อข่าวนั้น ๆ ตามที่สื่อชักนำได้ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ช็อก ตะลึง เศร้า ที่เกริ่นนำมาก่อนเนื้อข่าว คำเหล่านี้ สื่อต้องการให้ผู้อ่าน อ่านแล้วเกิดอารมณ์ความรู้สึกอย่างที่สื่อต้องการให้เราเป็น และส่งผลต่อมุมมองในแง่บวกและแง่ลบของผู้ชมได้
ลองสังเกตว่า สื่อไหนที่ใช้คำที่มันเกินจริง แสดงว่าสื่อนั้นอาจจะต้องการเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกผู้เสพข่าว เช่น สื่ออาจจะชักนำให้เราเห็นใจบุคคลในข่าว หรือในทางกลับกัน ก็อาจจะปลุกปั่นให้เราเกลียดคนในข่าวได้เหมือนกัน ถึงแม้เนื้อหาข่าวที่เล่าจะเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดก็ตาม
การลำเอียงโดยการเสนอความคิดเห็นเป็นข้อเท็จจริง
ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง Opinion กับ Facts แต่บางครั้งผู้อ่านก็สับสน เนื่องจากสื่ออาจจะใช้วิธีแอบใส่ความเห็นส่วนตัวลงไปในข้อเท็จจริงให้ปนกัน ทำให้ผู้อ่านหลงคิดไปว่า ที่นำเสนอมาเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด ทั้งที่จริง ๆ แล้ว มันอาจจะเป็นแค่การคาดคะเน หรือการตีความของผู้สื่อข่าวเองก็ได้
วิธีสังเกตก็คือ ผู้อ่านอาจจะมองหาคีย์เวิร์ดต่าง ๆ ที่สื่อเสริมขึ้นมาเองโดยไม่มีเหตุจำเป็น เช่น คำที่ตัดสินได้จากอารมณ์ความรู้สึก การบรรยายบางสิ่งบางอย่าง ว่า ดี ดีมาก/ ชื่อดัง/ อันดับ1 /ที่สุด หรือว่า แย่ /เลวร้าย/หนักหนาสาหัส ซึ่งคำพวกนี้มักจะแทรกได้ง่ายและไม่ชัดเจนจนเกินไป แต่ก็มีผลกระทบกับการตัดสินของผู้เสพข่าวได้เช่นกัน
ที่มา: Allsides / “How to Spot 12 Types of Media Bias”
เรียบเรียงโดย: ชณิดา ภิรมณ์ยินดี
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter