โตเกียว 1 เม.ย. – กิจกรรมโรงงานส่วนใหญ่ในทวีปเอเชียเผชิญกับภาวะชะลอตัวในเดือนมีนาคม ขณะที่สถานการณ์วิกฤตในยูเครน ทำให้อุปสงค์ของจีนตกต่ำและราคาต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า แม้ญี่ปุ่นจะได้รับผลประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ต้นทุนน้ำมันและธัญพืชที่พุ่งสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบในภาพรวมต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศในทวีปเอเชียที่ต้องพึ่งการนำเข้าพลังงาน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือพีเอ็มไอ ของจีน ระบุว่า กิจกรรมโรงงานในจีนประสบภาวะชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 2 ปี ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาวิกฤตการณ์ในยูเครน และการระบาดรุนแรงของโรคโควิด-19 ในประเทศที่ส่งผลต่ออุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศ ดัชนีดังกล่าวสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลของทางการจีนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมภาคผลิตและบริการของจีนหดตัวลงพร้อมกันเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม นับตั้งแต่พบการระบาดของโรคโควิดในปี 2563
ในขณะเดียวกัน กิจกรรมโรงงานในเกาหลีใต้ก็เผชิญกับภาวะชะลอตัวในเดือนมีนาคมเช่นกัน โดยมีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ในขณะที่บริษัทต่าง ๆ ต้องแบกรับต้นทุนสินค้านำเข้าที่พุ่งสูงขึ้น เช่น น้ำมัน โลหะ และเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนกิจกรรมโรงงานในไต้หวัน เวียดนาม และมาเลเซีย ก็เผชิญกับภาวะชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายรายให้ความเห็นว่า ภาวะชะลอตัวของจีนจะส่งผลร้ายต่อทวีปเอเชีย เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ยังจำเป็นต้องพึ่งอุปสงค์จากจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก.-สำนักข่าวไทย