กรุงเทพฯ 31 มี.ค.-“พล.ประวิตร” เร่งรัครงการพัฒนา จชต. สานสัมพันธ์ไทย-ซาอุ ยกระดับคุณภาพชีวิตปชช. สร้างสันติสุขในพื้นที่ ภายใต้พหุวัฒนธรรมอันดีงามอย่างยั่งยืน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดใช้แดนภาคใต้(กพต.) โดยที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะบริเวณปากน้ำเทพา อ.เทพา จ.สงขลา โดยกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณ ปากน้ำเทพาและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
ที่ประชุมรับทราบการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้(จชต.) รองรับการฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดี ไทย-ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสันติสุข อย่างยั่งยืน และรับทราบความคืบหน้าโครงการ เมืองปศุสัตว์ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล จชต. ซึ่งมีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งจำนวน 25 กลุ่ม สมาชิกจำนวน 750 คน
ที่ประชุมเห็นชอบโครงการเสริมสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนาเพื่อสืบสานและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามของจชต.พ.ศ.2565-2570 โดยดำเนินการในพื้นที่3 จชต. และ4 อำเภอของจ.สงขลา (อ.จะนะ ,เทพา ,นาทวี ,สะบ้าย้อย) เห็นชอบโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และประวัติศาสตร์ อุโมงค์ใหญ่ “ต้าสวุ่ยต้อ” ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเบตง อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่
ที่ประชุมเห็นชอบโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่-ด่านบูกิตกายูฮิตำ ของมาเลเซีย เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.สะเดา จ.สงขลา เห็นชอบโครงการส่งเสริมคนดีมีคุณธรรม ไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียและปฏิบัติธรรม ณ สังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย-เนปาล รวมทั้งเห็นชอบโครงการจ้างบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ ให้ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมายและชุมชนเมือง เพื่อสนับสนุนภาครัฐในการแก้ไขปัญหาและสร้างสันติสุข จชต. โดยคัดเลือกเยาวชนที่จบการศึกษาปริญญาตรีและบัณฑิตจากครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบหมู่บ้านละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่บัณฑิตอาสาตั้งแต่ปีพ.ศ.2552 เป็นต้นมา โดยจ้างบัณฑิตอาสาเพิ่มอีกจำนวน 339 คน ซึ่งจะทำให้มีบัณฑิตอาสา รวมทั้งสิ้น 2,458 คน
พล.อ.ประวิตร กล่าว่า ขอให้กพต.และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการ เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เน้นสร้างการมีส่วนร่วมของผู้นำท้องถิ่นและภาคประชาสังคม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญตามนโยบายรัฐบาลคือ ประชาชนได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในพหุวัฒนธรรมที่ดีงามร่วมกัน อย่างเท่าเทียม เสมอภาค เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืนต่อไป.-สำนักข่าวไทย