กรุงเทพฯ 22 มี.ค.-S&P ปรับลดเครดิต 4 แบงก์ไทย คาดถูกกระทบจากความเสี่ยงเชิงระบบ ผลจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว
เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อของธนาคาร 4 แห่งของไทย ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ลงสู่ระดับ BBB จากระดับ BBB+ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงไทย และธนาคารทีเอ็มบีธนชาต ลงสู่ระดับ BBB- จากระดับ BBB และ ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงเทพ ที่ระดับ BBB+ โดระบุว่า ธนาคารแห่งนี้มีความสำคัญในเชิงระบบในประเทศไทยซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ และได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ระดับ BBB+ โดยระบุว่า ธนาคารได้ประโยชน์จากการเป็นธนาคารในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป
S&P มองว่า ความเสี่ยงเชิงระบบของธนาคารไทยสูงขึ้นจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว และทิศทางการฟื้นตัวช้าขึ้นภายใต้สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน แม้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยง แต่คาดว่ามาตรการเหล่านี้อาจจะทำให้ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาด้านการปล่อยกู้ในภาคธนาคารยืดเยื้อออกไปอีก นอกจากนี้ S&P ประเมิน NPL Ratio ปรับตัวเพิ่มจากปัจจุบันที่ 3% เป็น 5% อีก 24 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม S&P ยังมอง ธนาคารไทยคงมีระดับเงินกองทุนและสำรองในระดับสูง ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบได้บางส่วน
KTZ Research ระบุข่าวดังกล่าวะเป็นลบต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารที่ถูกปรับลดเครดิต ซึ่งคาดว่าจะเป็นธนาคารฯ ที่มีสัดส่วนลูกค้า SMEs อยู่ในระดับสูง ได้แก่ KBANK SCB KTB TTB
นายชัยยศ จิวางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี กล่าวว่า S&P ลดอันดับเครดิตของ 4 ธนาคารของไทย คือ SCB, KBANK, KTB, TTB ส่งผลให้มีแรงขายกลุ่มแบงก์ในเช้านี้ แต่ได้แรงซื้อกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวขึ้นสูงอีกครั้ง
ฝ่ายวิจัยบล.เอเซีย พลัส ระบุว่าการปรับลด Credit Rating ข้างต้นมีโอกาสสร้าง Sentiment เชิงลบต่อราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร มีการมองกันว่าอาจนำมาสู่ความกังวลได้ว่า Credit Rating ของไทยจะถูกปรับลงด้วยหรือไม่ แต่ เอเซีย พลัส มองว่าไทยมีโอกาสถูกปรับลด Credit Rating ของประเทศลงไม่มาก จากปัจจุบัน S&P ประเมินไว้ที่ระดับ BBB+ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว, ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบ ภาครัฐสามารถกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ทว่าความกังวลอาจสร้างความผันผวนให้ตลาดหุ้นไทย รวมถึงชะลอการไหลเข้าของ Fund Flow และค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าช่วงสั้นๆ ได้ จึงแนะนำให้เข้าทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดีหากราคาปรับอ่อนตัวลงมา -สำนักข่าวไทย