กรุงเทพฯ 19 มี.ค.-ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมสัมมนาหัวข้อ “ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง?” ชี้พิษเศรษฐกิจที่รุมเร้าประเทศไทย เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งโควิด-19 น้ำมันแพง สงครามรัสเซีย-ยูเครน จี้รัฐแก้ปัญหาให้ตรงจุด ออกมาตรการช่วยเหลือให้ถึงประชาชน เร่งกระตุ้นภาคการผลิตฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ
การสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง?” จัดโดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 10 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีวิทยากรรับเชิญได้แก่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และ ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทยกล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวอยู่ในสถานการณ์ลำบากที่สุดเท่าที่เคยประสบมา ลำบากยิ่งกว่า “ต้มยำกุ้ง” จากปี 2019 มีนักท่องเที่ยว 3.89 ล้าน รายได้ 3 ล้านล้าน ในปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเหลือ 4.2 แสนคน ติดลบ 90% ปัญหาหนักที่สุดคือ ขาดกระแสเงินสด คนที่อยู่ได้คือ คนที่มีหนี้น้อย กระเป๋าหนัก และสายป่านยาวอย่างโรงแรมใหญ่ แต่โรงแรม 2-3 ดาวหลายแห่งยื้อไม่ไหว อาจอยู่ได้แค่ 2-3 เดือน
สำหรับสิ่งที่อยากให้รัฐช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุดคือ ยกเลิกมาตรการกักตัวต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศ ยกเลิก Test & GO รวมถึงยกเลิกการกักตัว สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยได้เลย ที่สำคัญคือ ต้องกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ส่วนคนไทยกระตุ้นให้เดินทางมากขึ้น
ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยกล่าวว่า รัฐบาลควรโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งระบบ เพื่อทำให้โครงสร้างราคาน้ำมันเกิดความเป็นธรรมกับประชาชน ไม่ให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน กรณีที่ราคาน้ำมันดิบที่ตลาดโลกขึ้นไปวิกฤตตอนนี้ น้ำมันดิบราคาแพงขึ้นสูง 100 เหรียญต่อบาร์เรล รัฐบาลควรปรับลดภาษีสรรพาสามิตลง ส่วนบทบาทของกองทุนน้ำมัน จำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ มีการนำเงินจากกองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ มีการเก็บเงินจากกลุ่มหนึ่งไปใช้อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้และเป็นผู้จ่ายกลับไม่ได้รับประโยชน์ เงินกองทุน 3 ปี 20,000 กว่าล้าน ถูกโอนไปที่กระทรวงการคลัง ทั้งที่เงินกองทุนจากส่วนใด ควรใช้ในส่วนนั้น โดยรัฐต้องทำให้กองทุนด้านพลังงานทั้ง 2 กองทุนเกิดความเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า โควิดทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องชะงักลง โดยรัฐบาลได้ออกพ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้โครงการเยียวยาประชาชนต่างๆ ทั้ง คนละครึ่ง เราชนะ ม.33 เรารักกัน สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ถึง 40 ล้านคน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วปี 2563 เม็ดเงินเยียวยาที่รัฐให้แก่ประชาชนเฉลี่ยอยู่ที่ 13,400 บาทต่อคนต่อปี
สำหรับปี 2565 นี้รัฐบาลยังมีงบประมาณที่ยังไม่ได้จัดสรรอยู่ ทำให้มีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนอยู่ โดยสถานการณ์ต่างๆในไทยเริ่มดีขึ้น แต่กลับต้องเผชิญปัจจัยภายนอกที่สำคัญอย่างสงครามรัสเซีย – ยูเครน ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผลกระทบหนักที่เกิดขึ้นคือ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นซึ่งทำให้ต้นทุนต่างๆ เพิ่มขึ้นทุกส่วนซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมหามาตรการบรรเทาผลกระทบ
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปัจจุบันเพดานหนี้สาธารณะประเทศไทยอยู่ที่ 70% หรือคิดเป็น 10% ของ GDP ประเทศ ดังนั้นมีโอกาสเพิ่มหนี้ได้อีก 10% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งควรกู้มากระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าไม่ช่วยตอนนี้ จะทำให้อีก 5 ปีจากนี้ เศรษฐกิจจะเดินต่อไม่ได้ แม้หนี้สูง แต่เศรษฐกิจเดินต่อได้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจทำได้ด้วย “การสร้าง” ไม่ใช่ทำเฉพาะ “การซ่อม” หรือบรรเทาผลกระทบอย่างเดียว หากรัฐกู้เงินเพิ่ม ควรนำมาเติมสภาพคล่อง ให้สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ นำไปพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการเติบโตเศรษฐกิจไทยในรูปแบบใหม่
ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้กระทบต่อภาคแรงงาน ปัจจุบันมีคนว่างงานประมาณ 6.3 แสนคน นอกจากนี้ยังมีคนว่างงานแฝงที่ทำงานไม่ถึงชั่วโมงต่อสัปดาห์อีกประมาณ 6 แสนคน ในขณะเดียวกันยังจะมีนักศึกษาจบใหม่ออกมาอีก จึงส่งผลให้อัตราว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การจ้างงานจะต้องเปลี่ยน ผู้ประกอบการจะใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนมนุษย์มากยิ่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ทั้งนี้ในวงสัมมนาเห็นร่วมกันว่า ผู้บริหารประเทศต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจการซื้อ ซึ่งจะกระตุ้นภาคการผลิต แล้วส่งผลให้เกิดการจ้างงานซึ่งจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้พ้นจากวิกฤตได้.-สำนักข่าวไทย
ชมคลิปเต็ม