กรุงเทพฯ 14 มี.ค.-บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) แจ้งว่า ตามที่บริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ได้ถอนตัวจากการเป็นผู้ดำเนินการและผู้ร่วมทุนในโครงการยาดานา ประเทศเมียนมานั้น ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ได้เข้าถือหุ้นแทน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานของประชาชนในประเทศเมียนมาและประเทศไทย
ตามที่บริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ได้ถอนตัวจากการเป็นผู้ดำเนินการและผู้ร่วมทุนในโครงการยาดานา ประเทศเมียนมา จากที่ถือหุ้นร้อยละ 31.23นั้น ปตท.สผ. ได้พิจารณาแนวทางบริหารจัดการแหล่งยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีความสำคัญ ให้สามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานของประชาชนในประเทศเมียนมาและประเทศไทย ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนมีความร่วมมือและช่วยเหลือกันในหลาย ๆ ด้านมาเป็นเวลานาน สำหรับประเทศไทยแล้ว หนึ่งในความร่วมมือกับประเทศเมียนมา ก็คือ ด้านการพัฒนาพลังงาน ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้ง ความเป็นอยู่ของประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ โดยก๊าซธรรมชาติจากอ่าวเมาะตะมะซึ่งได้มีการสำรวจพบและนำขึ้นมาใช้เป็นแหล่งพลังงานในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบันนั้น เรียกได้ว่าเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าทั้งภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม ทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านคมนาคม ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นต้น
สำหรับก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากโครงการยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะนั้น มีปริมาณ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งประมาณ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใช้ในเมียนมาเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ในขณะที่ประเทศไทย ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากโครงการยาดานาด้วยเช่นกัน โดยส่งเข้าประเทศไทยประมาณ 550 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จำนวน 12 โรง รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าและพลังงานของประชาชนกว่า 11 ล้านคนในภาคตะวันตกและบางส่วนของภาคกลาง โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 11 ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทย
ปตท.สผ. ในฐานะบริษัทพลังงานของไทย ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งของการผลิตก๊าซธรรมชาติ จึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมามากว่า 30 ปี และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ทั้งนี้ บริษัทได้พิจารณาอย่างรอบคอบในการเข้าเป็นผู้ดำเนินการในโครงการยาดานาต่อจากบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ซึ่งถอนตัวออกจากโครงการ โดยบริษัทเชื่อว่าการเข้าเป็นผู้ดำเนินการจะสามารถช่วยรักษาความต่อเนื่องในการจัดหาพลังงานให้กับทั้งสองประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงาน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งพลังงานรูปแบบอื่นยังมีข้อจำกัดในการเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับการผลิตไฟฟ้า รวมไปถึง ความต่อเนื่องในการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และกระบวนการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทุกขั้นตอน
การเข้าเป็นผู้ดำเนินการโครงการยาดานาของ ปตท.สผ. ครั้งนี้ ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ร่วมทุนของโครงการแล้ว อย่างไรก็ตาม การเข้าเป็นผู้ดำเนินการจะมีผลในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ในการเปลี่ยนผ่านการเป็นผู้ดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย
ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขในสัญญาการร่วมทุน (Production Operating Agreement หรือ POA) สัดส่วนการร่วมทุนของบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ จะกระจายให้กับผู้ร่วมทุนรายอื่นในโครงการตามสัดส่วนการลงทุน โดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งจะส่งผลให้ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 37.0842 จากเดิมร้อยละ 25.55 โดยบริษัท เชฟรอน ซึ่งมีบริษัทย่อยคือบริษัท ยูโนแคลเมียนมา ออฟชอร์ จะเป็นผู้ถือสัดส่วนการลงทุนมากที่สุด ร้อยละ 41.1016 จากเดิมร้อยละ28.26 ส่วน Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE)ถือหุ้น ร้อยละ 21.8142 จากเดิมร้อยละ 15 ภายหลังจากบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ยุติการเป็นผู้ร่วมทุนและเป็นผู้ดำเนินการ
ตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพทางพลังงาน และยึดมั่นการบริหารงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในทุกประเทศที่บริษัทมีการดำเนินงาน โดยตระหนักดีว่าการเข้าถึงการใช้พลังงานอย่างเท่าเทียมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกประเทศพึงได้รับ.-สำนักข่าวไทย