สธ. 10 มี.ค.- รมว.สธ. มีแนวคิดแยกสาเหตุเสียชีวิตจากโควิดและโรคร่วมออกจากกัน หลังพบมีแค่ 30% ที่เสียชีวิตจากโควิด ที่เหลือเป็นโรคร่วม ส่วนการเปิด OPD 14 รพ. รอบปริมณฑล ช่วยลดความแออัดใน กทม. พบผ่านมา 4 วันมีคนใช้บริการ 8,000 คน จ่ายยาตามอาการ 50% จ่ายฟาวิฯ 28 % และ 22% จ่ายฟ้าทะลายโจร
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการพบผู้เสียชีวิต 74 คนว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดเพียงอย่างเดียว แต่มีโรคร่วม จึงเตรียมวางเกณฑ์แยกการเสียชีวิตจากโควิดกับโรคร่วมอื่นออกจากกัน โดยดูที่อาการที่พบเป็นหลัก เพราะปัจจุบันผู้เสียชีวิตมักมีโควิดเป็นแค่องค์ประกอบ เพราะบางคน ป่วยมะเร็ง บางคนติดเตียง หรือไตวาย
นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนเรื่องมาตรการ “เจอ แจก จบ“ หรือ OPD ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้รับความร่วมมือจากผู้ติดเชื้อโควิดดีมากพอสมควร ทำให้การบริหารจัดการบุคลากรไปดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น และหากโควิดเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ต้องทำให้คนเข้าใจที่จะอยู่กับโรค พร้อมกับเร่งฉีดวัคซีน
นพ.เกียรติภูมิ วงค์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเปิดให้บริการผู้ป่วยโควิดในกทม. ไปรับการรักษา ยัง 14 รพ. ปริมณฑลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ 4-8 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า มีผู้มารับบริการประมาณ 8,000 คน ก็ช่วยลดภาระความหนาแน่ของผู้ป่วยในกทม. และเป็นการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อที่พยายามโทรเข้าระบบ 1330 โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว และพบว่า 30% เป็นผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ อีก 60% เป็นผู้ป่วยในกทม. สำหรับการรักษาและการจ่ายยา พบว่า 50% จ่ายยารักษาตามอาการ, 22% จ่ายยาฟ้าทะลายโจร, 28% จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ พร้อมกันนี้ เตรียมจำแนกการเสียชีวิตของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด เพื่อระบุสาเหตุการเสียชีวิตให้ชัดเจน เนื่องจาก 10-30% ไม่เกี่ยวกับโควิด เป็นการเสียชีวิตจากโรคประจำตัว นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเปิดรักษาโควิดแบบ OPD ว่า จากการรักษาใน 3 รพ. รพ.ราชวิถี ,รพ.เลิดสิน และรพ.นพรัตน์ราชธานี พบว่าในจำนวนผู้ที่มาการรักษา 1,000 คนต่อวัน ประมาณ 70-80% เป็นรักษา Home Isolation ส่วนใหญ่มีอาการน้อยมาก.-สำนักข่าวไทย