กรุงเทพฯ 9 มี.ค.-บอร์ด กพอ. ไฟเขียวจัดงาน International Air Show ที่สนามบินอู่ตะเภา โชว์ศักยภาพอุตสาหกรรมการบินในปี 2568 หวังดึงนักลงทุนเข้าอีอีซี คาดสร้างรายได้กว่า 8,200 ล้านบาท
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2565 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า ที่ประชุม กพอ. รับทราบโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและผู้ค้ารายย่อยในอีอีซี นำเทคโนโลยีมาส่งเสริมสินค้า OTOP เพิ่มศักยภาพการขยายช่องทางจำหน่ายให้ตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งช่วยหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ค้ารายย่อย ชุมชน พร้อมตั้งกลุ่มเป้าหมายและสินค้าที่นิยมในพื้นที่นำร่องอย่างน้อย 10 ชุมชน คาดว่าโครงการฯ จะเริ่มดำเนินการได้ภายในตุลาคม 2565 ซึ่งจะสามารถเพิ่มยอดขายสินค้าชุมชนไม่ต่ำกว่า 30% รายได้รวม (GDP) ระดับชุมชนประมาณ 20% และเศรษฐกิจชุมชนเพิ่มขึ้นประมาณ 20% นอกจากนี้ ทำให้ผู้ซื้อสินค้า ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพ เกิดแรงจูงใจกลับมาเที่ยวซ้ำ ทำให้ชุมชนคนพื้นที่อีอีซี เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ดีมั่นคง
ส่วนความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการอีอีซี ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ครม. มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษ รวม 7 เขต ได้แก่เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) , เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันอออก (EECi) , เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) , เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (EECh) , ศูนย์นวัตกรรมการแพทยครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) , การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) และศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงบ้านฉาง
โดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เป็นพื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) ให้สิทธิประโยชน์อีอีซีแก่นักลงทุนภายใต้กรอบสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของ BOI โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้พื้นที่ดังกล่าวเป็น“เขตประกอบการค้าเสรี 24 ชั่วโมง” ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยร่างประกาศสิทธิประโยชน์ฯ มีหลักการที่สำคัญคือ การสร้างนวัตกรรมการให้บริการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ เน้นการออกแบบสิทธิประโยชน์ตรงตามความต้องการของนักลงทุน
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์อีอีซี เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เกิดการลงทุนที่คล่องตัว เพื่อจูงใจนักลงทุนรายใหญ่เข้าสู่พื้นที่อีอีซี ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้ตามเป้าหมายของอีอีซี
นอกจากนี้ที่ประชุม กพอ. พิจารณาให้ สกพอ. ร่วมกับกองทัพเรือ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือ สสปน. จัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย (Thailand International Air Show) ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมธุรกิจการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน และจะส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค อีกทั้งทำให้เกิดแรงจูงใจกับนักลงทุนและเชื่อมโยงนักธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินระดับโลกเข้ามาลงทุนในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก เกิดการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจร่วมกันจุดนี้ถือเป็นกำลังสำคัญ เสริมแกร่งการลงทุนเข้าสู่ในพื้นที่อีอีซี ตามเป้าหมายเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี
การจัดงานฯ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2568 สอดคล้องกับระยะเวลาเปิดบริการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานรวมประมาณ 5,425 คน และการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2570 จะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 36,300 คน ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้โครงการฯ จะมีการจัดงานที่เกี่ยวข้องทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2566 – 2570 จำนวน 28 งานในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงาน Thailand International Air Show ทั้งหมด จะสามารถสร้างรายได้รวมให้แก่ประเทศมากถึงประมาณ 8,200 ล้านบาท
นายคณิศ แสงสุพรรณ ยังเผยถึงสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ว่า ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ไกลมากสำหรับประเทศไทย และโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็เป็นโครงการที่เน้นการลงทุนในไทยเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียยูเครน จะเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วงเวลา 1 เดือน หลังจากนี้ ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยอมรับว่าสถานการณ์โควิดอาจมีผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีการประมาณการว่าจะมี 6 ล้านคน ว่าจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ แต่ถือเป็นโชคดีของ EEC ที่ได้มีการเซ็นสัญญาไปแล้ว 4 โครงการใหญ่ ก่อนมีโควิดระบาด เพราะหากต้องมาเซ็นสัญญาตอนนี้คงยาก อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่าโครงการใดที่เซ็นสัญญาร่วมทุนไปแล้วให้เดินหน้าไปให้ได้ ให้ถูกต้องตามกฎหมายโปร่งใส และมีความเป็นธรรมกับคู่สัญญา ซึ่งต้องดูแลส่วนนี้ให้ดี.-สำนักข่าวไทย