ทำเนียบรัฐบาล 8 มี.ค.- รมว.กต.ยันจุดยืนไทยขอทุกฝ่ายเร่งเจรจายุติปัญหารัสเซีย-ยูเครน เชื่อนายกฯ ร่วมประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐ ไม่กระทบสัมพันธ์รัสเซีย หาทางดูแลคนรัสเซีย-ยูเครนในไทย
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมนอกรอบ ซึ่งมีข่าวว่าพูดคุยถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียกับยูเครน ว่า เป้าหมายและท่าทีของประเทศไทยต่อสถานการณ์ดังกล่าว ไทยต้องการเห็นปัญหานี้ยุติลง แต่จะยุติได้เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเจรจากัน ซึ่งขณะนี้เขากำลังเจรจากันอยู่
“ขณะเดียวกันมีอีกหลายฝ่ายที่อยากมาช่วยทำให้เรื่องนี้ยุติโดยเร็ว เพราะถ้าปัญหายังยืดเยื้อจะส่งผลกระทบไปทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องราคาพลังงาน เงินเฟ้อ และสินค้ามีราคาแพงขึ้น เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น กำลังพิจารณาว่ามีอะไรที่เราทำได้ อะไรที่เราทำไม่ได้ และมีอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยแก้ไขผลกระทบที่มีต่อประเทศเราเอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
เมื่อถามว่าที่ประชุมได้ประเมินด้วยหรือไม่ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้ออีกนานเพียงใด นายดอน กล่าวว่า ไม่ได้พูดเรื่องนี้ เราติดตามดูวันต่อวันเห็นว่าเหตุการณ์เพิ่งเกิดมาประมาณ 10 กว่าวัน แต่ส่งผลกระทบอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่จะส่งผลกระทบมากกกว่านั้นคือสถานการณ์บานปลาย ซึ่งไม่มีประเทศใดต้องการเห็นสิ่งเหล่านี้ ยกเว้นอาจมีบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้ แต่ประเทศส่วนใหญ่อยากเห็นการเจรจาที่นำไปสู่ความเข้าใจที่พอจะรับกันได้ และทำให้สถานการณ์บรรเทาได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีได้รับเชิญจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดสหรัฐอเมริกาและผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ ที่กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 28-29 มี.ค.นี้ จะมีผลต่อความสัมพันธ์ของไทยกับรัสเซียหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่กระทบ เพราะการเชิญเข้าร่วมประชุมดังกล่าวพูดคุยกันในหลักการตั้งแต่ปลายปี 2564 ซึ่งนายกรัฐมนตรีตอบรับเข้าร่วมการประชุมนี้ อย่างไรก็ตาม เราต้องช่วยกันทำให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ได้ แม้ได้รับผลกระทบทั้งจากเรื่องสินค้าและเรื่องต่าง ๆ จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน
เมื่อถามว่าที่ประชุมได้หารือถึงการดูแลชาวรัสเซียและยูเครนที่ติดค้างอยู่ในไทยด้วยหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า ต้องช่วยกันดูแล เพราะชาวรัสเซียและยูเครนได้รับความเดือดร้อน ส่วนจะดูแลอย่างไรต้องดูความจำเป็นที่เขาต้องการ เช่น ชาวรัสเซียอาจมีปัญหาเรื่องบัตรเครดิตใช้ไม่ได้ เพราะถูกอายัด ซึ่งเราต้องช่วยดูแลเขาในส่วนนี้ และต้องมาแยกแยะกันอีกว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มไหน.-สำนักข่าวไทย