กรุงเทพฯ 5 มี.ค.-วิตกสงคราม “ยูเครน-รัสเซีย” ส่งผลสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งพรวดสูงสุดในรอบกว่า 13 ปี คาดสัปดาห์หน้าราคาสิงคโปร์ปรับขึ้นตาม และราคาขายปลีกไทยปรับขึ้นตามอีก เตือนค่าไฟพุ่งตาม
ราคาน้ำมันดิบโลกปิดตลาดวานนี้ (4 มี.ค.) พุ่งขึ้นแรง วิตกเกี่ยวกับภาวะชะงักงันด้านอุปทานพลังงานจากความรุนแรงของสงครามรัสเซียและยูเครน สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดวานนี้ (4 มี.ค.) พุ่งขึ้น 8.01 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7.4% ปิดที่ 115.68 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย.2551 และในรอบสัปดาห์นี้ ราคาสัญญาพุ่งขึ้น 26.3%
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ปิดวานนี้ พุ่งขึ้น 7.65 ดอลลาร์ หรือ 6.9% ปิดที่ 118.11 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2556 และในรอบสัปดาห์นี้ ราคาสัญญาพุ่งขึ้น 25.5% ส่วนราคาปิดตลาดสิงคโปร์วานนี้ (4 มี.ค) ลดลงตามราคา WTI และ Brent ในวันก่อน เบนซิน 95 ปิด 127.80 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 5.55 ดอลลาร์ ดีเซลปิด 136.09 ดอลลาร์ ลดลง 0.49 ดอลลาร์ และน้ำมันดิบดูไบปิด 108.80 ดอลลาร์/บาร์เรลลดลง 7.79 ดอลลาร์
ผู้ค้าน้ำมันคาดว่าสัปดาห์หน้าราคาน้ำมันของไทยจะปรับขึ้นตามราคาตลาดโลก หลังจากสัปดาห์นี้มีการเปลี่ยนแปลงราคา3วันติดต่อกันซึ่งการที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เห็นชอบอุดหนุนดีเซลเพิ่มจาก 2.30 บาท เป็น 5.80 บาท/ลิตร ก็ทำให้ดีเซลของ ปตท.และบางจากฯ ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ได้ และเอกชนบางรายก็ปรับราคาลงมาประกอบกับดีเซลสิงคโปร์ลดลง ส่งผลให้วันนี้เชลล์ลดราคาดีเซลลง 1.40 บาท/ลิตร ราคา กทม.อยู่ที่ 31.74 บาท คาลเท็กซ์ลดลง 0.50บาท/ลิตร ราคาอยู่ที่ 31.14 บาท/ลิตร
สำหรับการปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยของกองทุนน้ำมัน ส่งผลให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ไหลออกเฉพาะดีเซล 11,000 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่การดูแลตรึงราคาแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) เงินไหลออกราว 2,000 ต่อเดือน ขณะที่สถานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 27 ก.พ.2565 กองทุนฯ ประสบปัญหาติดลบรวม 21,838 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันมีเงิน 4,988 ล้านบาท แต่บัญชี LPG ติดลบหนัก 26,826 ล้านบาท
ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะสะท้อนไปยังราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าหลักต้องปรับขึ้นในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า เช่นเดียวกับราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลาดจรได้ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ปัจจุบันเดือน ม.ค.-เม.ย.2565 อยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ประชาชนจ่ายอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หากปล่อยให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ค่าไฟงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.65 จะปรับขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ 16 สตางค์ต่อหน่วย และจะทำให้ค่าไฟเฉลี่ยทะลุ 4 บาทต่อหน่วย ทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังเร่งพิจารณาหาแนวทางลดผลกระทบ.-สำนักข่าวไทย