มหาสารคาม 2 มี.ค.- อดีตช่างก่อสร้างกลับบ้านเกิด พลิกผืนนาที่เคยแห้งแล้งปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์ สร้างรายได้หลายแสนต่อปี
นายธงชัย ชาวบ้านหมู่ 7 ต.เหล่าบัวบาน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม เจ้าของสวนชมพู่ เล่าว่า ตนและภรรยากลับมาบ้านเกิดเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ระยะแรกไม่รู้จะทำอะไร จนได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงจึงได้ศึกษาเพิ่มเติม หลังจากนั้นได้ทดลองแบ่งพื้นที่นาจาก 9 ไร่ ที่ได้รับเป็นมรดกจากพ่อ-แม่ มาปรับ จำนวน 5 ไร่ ปลูกชมพูทับทิมจันทร์ แล้วลงมือปรับปรุงโครงสร้างดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ขุดร่องน้ำเพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้ในสวน เป็นการลดปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นขุดหลุมกว้าง 30 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร ปลูกระยะห่างแต่ละต้นประมาณ 3 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก และรดน้ำต้นชมพู่ในช่วงเช้าของทุกวัน
ช่วงฤดูหนาวชมพู่จะเริ่มออกดอกติดผล ช่วงนี้ต้องบำรุงด้วยการใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 พอดอกโรยก็เริ่มห่อผลด้วยถุงพลาสติกเจาะรูเพื่อระบายอากาศ หลังจากนั้น 45 วันก็สามารถเก็บผลขายได้ ในแต่ละรอบปีสามารถเก็บผลผลิตชมพู่ได้ 2-3 รอบ รอบที่เก็บผลผลิตได้ดีอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และแต่ละครั้งจะเก็บผลรวมน้ำหนักแล้วมากกว่า 4,000 กิโลกรัม แต่ปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำไม่ขาด ผลผลิตรวมกันคาดว่าจะถึง กว่า 10 ตัน
โดยราคาขายชมพู่หน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท (3 กิโลกรัม 100บาท) ในแต่ละวันจะมีลูกค้าซึ่งเป็นพ่อค้าผลไม้จากจังหวัดมหาสารคาม และใกล้เคียงมาซื้อถึงที่สวนเฉลี่ยวันละ 200-400 กิโลกรัม ปีนี้น่าจะมีรายได้จากการจำหน่ายชมพู่ทับทิมจันทร์ไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท.-สำนักข่าวไทย