สธ.24 ก.พ.- สธ.เผยการระบาดโควิดโอไมครอนยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง หลัง 2 สัปดาห์พบผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่ม 2 เท่า พร้อมเร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุลดเสี่ยงเสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยตรวจ ATK เป็นบวก ไม่ต้องตรวจ PCR ซ้ำ รักษา HI ได้ทันที
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยยังเป็นกระบาดช่วงขาขึ้นของสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งมีการติดเชื้อเร็ว ผู้ป่วยอาการหนักหรือเสียชีวิตมีไม่มาก มีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการจำนวนมาก แต่ในช่วง 2สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ป่วยปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จาก 569 ราย เพิ่มเป็น 905 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 113 คน เพิ่มเป็น 240 คน เป็นผลจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เพิ่มขึ้น 2 เท่าเช่นกัน จาก10,403 ราย เป็น 17,748 ราย การพบผู้ป่วยปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง อาจจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น มากจนอาจทำให้กลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วมีอาการหนักได้ จึงจำเป็นต้องคงระดับการเตือนภัยโควิด-19 ในระดับที่ 4 ไว้
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วกว่า 122,473,371 โดส เป็นการลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต และจะต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ด้วยจากการระบาดในขณะนี้ การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นในวัยทำงาน กลุ่มคนที่ไปสถานบันเทิง สถานที่เสี่ยงและการระบาดในชุมชน โดยพบว่าช่วงการระบาดของโอไมครอน ตั้งแต่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มติดเชื้อสูงสุงคืออายุ 20-29 ปี ตามมาด้วย 30 -39 ปี และเด็กอายุน้อยกว่า 0-9 และ 10-19 ปี เมื่อเทียบกับการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ผู้สูงอายุมีการติดเชื้อต่ำในช่วงนี้ แต่กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่น และมีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น หากไม่ได้รับการป้องกันหรือฉีดวัคซีน ข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 65 ถึง 18 ก.พ.65 มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 666 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็นร้อยละ 82 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งพบว่าร้อยละ 58 ไม่มีได้ฉีดวัคซีน ได้รับวัคซีน 2 เข็ม ร้อยละ 30 และรับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป เสียชีวิตน้อยมาก ร้อยละ 2 จะเห็นได้ว่าจำเป็นต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ โดยพบว่ามีผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 2.2 ล้านคน
ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ในสถานการณ์การระบาดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ใน กทม.และต่างจังหวัด ทั้ง 13 เขตสุขภาพ ปัจจุบันมีอัตราการครองเตียงทั่วประเทศร้อยละ 52 จากเตียงทั้งหมด 180,000 เตียง เหลือเตียงอีกร้อยละ 40 ผู้ป่วยที่มีอาการหนักยังมีเตียงรองรับได้อยู่ หากประชาชนพบว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 ช่องทางหลักในการติดต่อคือสายด่วน สปสช. 1330 หรือเว็บไซต์ สปสช. เพื่อเข้ารับการรักษา หากตกหล่นสามารถโทรคอลเซ็นเตอร์ของเขต หรือจังหวัดนั้นๆ ได้เช่นกัน เมื่อตรวจด้วย ATK มีผลเป็นบวก สามารถเข้าสู่การรักษาแบบ Home Isolation ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจ PCR ซ้ำ ส่วนการรักษา หากผู้ป่วยไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายเองได้ กรณีผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น จะมีการประสานนำส่งโรงพยาบาล ตามดุลพินิจของแพทย์. – สำนักข่าวไทย